ทิศทางการขับเคลื่อนภารกิจองค์กรเพื่อก้าวสู่ประเทศ 4.0

          “ระบบมาตรวิทยาเข้มแข็งเพื่อโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศที่เป็นระบบและมีสมรรถนะ สนับสนุนการสร้างนวัตกรรม ยกระดับประเทศไทยสู่กลุ่มประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

การขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใต้บริบทประเทศไทย 4.0 นั้น การวัดที่ถูกต้องและแม่นยำ จึงมีบทบาทสำคัญต่อภาคการผลิตและบริการ การค้าขาย คุณภาพชีวิต ความปลอดภัยในการใช้สินค้าอุปโภคและบริโภค ตลอดจนสุขอนามัยของประชาชน งานด้านมาตรวิทยาถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของ “โครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ” ที่เป็นการสร้างหลักประกันให้กับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ อันจะส่งผลให้ประเทศมีศักยภาพในการผลิตและสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ในตลาดระหว่างประเทศ

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) มีหน้าที่หลักในการพัฒนามาตรฐานการวัด โดยการใช้เทคนิคและวิธีการทางมาตรวิทยาที่เหมาะสม สร้างมาตรฐานการวัดไปสู่การยอมรับในระดับระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนความสามารถในการผลิตและการค้า ผ่านกระบวนการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับจากคู่ค้า เพื่อให้มั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์เป็นไปตามข้อกำหนดจำเพาะของการผลิต ได้มาตรฐาน เป็นไปตามความคาดหวังของลูกค้าและผู้บริโภคทั้งในด้านราคา คุณภาพ และความน่าเชื่อถือ ภารกิจที่สำคัญของสถาบันตาม แผนแม่บทพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ได้กำหนดกรอบของการขับเคลื่อนใน 3 แนวทาง คือ

  1. มาตรวิทยาเพื่อพื้นฐาน – การพัฒนามาตรฐานการวัดเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ อาทิ การพัฒนานาฬิกาอะตอมเชิงแสงเพื่อการประยุกต์ใช้ความถี่มาตรฐานในการวินิจฉัยทางการแพทย์ การถ่ายทอดเวลาผ่านระบบอินเตอร์เนตเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเข้าสู่สังคมดิจิตัล การสร้างสถานีเวลารับสัญญาณดาวเทียมนำทางสากลเพื่อรองรับระบบโลจิสติกส์และระบบข้อมมูลการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนามาตรฐานการวัดเพื่อการทดสอบระบบการขนส่งทางราง การผลิตวัสดุอ้างอิงเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมอาหาร
  2. มาตรวิทยาเพื่อผลิตภาพและศักยภาพอุตสาหกรรม – การนำเทคโนโลยีมาตรวิทยาไปเพิ่มผลิตภาพการผลิต และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ เช่น การพัฒนาระบบการวัดที่เหมาะสมเพื่อลดการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมอาหารแช่เยือกแข็ง การพัฒนาระบบการวัดชิ้นส่วนยานยนต์แบบอัตโนมัติบนเครื่องจักรขนาดใหญ่ การสร้างทักษะทางการวัดให้กับแรงงาน การปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีมาตรวิทยา
  3. มาตรวิทยาเพื่อสังคมคุณภาพ – การประยุกต์ใช้มาตรวิทยาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ความปลอดภัย ความเป็นธรรม และสุขอนามัยของประชาชน ได้แก่ การผลิตวัสดุอ้างอิงเพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนในอาหาร การพัฒนามาตรฐานการทดสอบอาหารฮาลาล ความร่วมมือกับสำนักงานชั่ง ตวง วัด เพื่อความเป็นธรรมในการซื้อขาย ความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อความถูกต้อง เป็นธรรมในการตัดสิน ความร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบกในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยในการขนส่ง ความร่วมมือกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการทำคู่มือการทดสอบเครื่องวัดทางการแพทย์ ความร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ และมลพิษทางเสียง

ด้วยความมั่นใจว่า การดำเนินงานภายใต้กรอบภารกิจข้างต้น การวัดที่ถูกต้องและแม่นยำ จะเป็นหลักประกันที่สำคัญ ในการนำพาประเทศชาติบรรลุเป้าประสงค์หลัก สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในอนาคต

นางอัจฉรา  เจริญสุข

                                                   ผู้อำนวยการ