ทิศทางการขับเคลื่อนภารกิจขององค์กรเพื่อก้าวสู่ประเทศไทย 4.0

“ทิศทางการขับเคลื่อนภารกิจขององค์กรเพื่อก้าวสู่ประเทศไทย 4.0”

ประเทศไทย 4.0 นับเป็นรูปแบบใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่เศรษฐกิจที่ ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ด้วยความมุ่งหวังที่จะหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง ด้วยบริบทดังกล่าวโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวนำ จึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าเพื่อสู่การสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อศักยภาพการแข่งขันที่สูงขึ้น นวัตกรรมและบริการที่มีมูลค่าเหล่านั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าปราศจากโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศอันประกอบด้วย การมาตรฐาน การทดสอบ การตรวจสอบ รับรอง การกำกับดูแลตลาดเพื่อสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค และที่สำคัญคือระบบมาตรวิทยาของประเทศ

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ มีบทบาทในการสร้างความสามารถด้านการวัดของประเทศ เพื่อถ่ายทอดมาตรฐานการวัดที่ถูกต้องสู่ภาคการผลิตและบริการ พร้อมๆ กับการสร้างการยอมรับความเท่าเทียมกันของมาตรฐานการวัดประเทศไทยกับมาตรฐานการวัดระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันกับการก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ของภาคการผลิต ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการปรับเปลี่ยนนิยามของระบบหน่วยวัดระหว่างประเทศ อันเป็นผลมาจากการวิจัยวิธีการวัดใหม่ที่อาศัยปรากฎการณ์ควอนตัมเป็นพื้นฐานสำหรับมาตรฐานของหน่วยมูลฐาน เพื่อรองรับงานค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม อุตสาหกรรมการผลิตและการค้าระหว่างประเทศ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการปกป้องสิ่งแวดล้อมโลก

ทิศทางการดำเนินงานของสถาบันจึงต้องมุ่งสร้างความเข็มแข็งด้านการพัฒนามาตรฐานการวัดเพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ที่ต้องการความถูกต้องทางการวัด การตรวจสอบที่แม่นยำยิ่งขึ้น อาทิ การพัฒนานาฬิกาอะตอมเชิงแสง การพัฒนานวัตกรรมการวัดทางมิติสำหรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ มาตรฐานการวัดสำหรับรองรับระบบยานยนต์อัจฉริยะ และระบบขนส่งสมัยใหม่ โครงการผลิตวัสดุอ้างอิงสำหรับตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ระบบการวัดอัตโนมัติสำหรับสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อเพิ่มผลิตภาพผู้ประกอบการ การพัฒนามาตรฐานเพื่อสนับสนุนการประเมินและรับรองผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และนวัตกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และสถาบันยังต้องเน้นการสร้างความสามารถและศักยภาพของบุคลากรด้านมาตรวิทยาของประเทศอีกประการหนึ่ง

ด้วยแนวทางการขับเคลื่อนดังกล่าวสถาบันหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามาตรวิทยาที่เป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ จะเป็นกลไลสำคัญในการส่งเสริมประเทศให้ไปสู่เป้าหมายการปรับเปลี่ยนสู่ประเทศไทย 4.0 อย่างสัมฤทธิ์ผลในที่สุด