ผนึกกำลังร่วมทำแผน NQI พัฒนาประเทศเตรียมคนไทยแห่งศตวรรษที่ 21 (23-24 กันยายน 2562)

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “การจัดทำกรอบและแผนงานภายใต้โปรแกรม 12 ของนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศด้านการรับรองระบบงาน และ การตรวจสอบและรับรอง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชุมหารือระหว่างผู้มีส่วนได้เสียหลักของระบบตรวจสอบและรับรองของประเทศเพื่อช่วยกันระบุปัญหา เหตุของปัญหาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากกระบวนการรับรองระบบงานให้แก่หน่วยตรวจสอบและรับรองไม่มีประสิทธิภาพ หรือมีคุณภาพ รวมทั้งกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน และการจัดทำกรอบและแผนงานภายใต้โปรแกรม 12 ตามนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) พ.ศ. 2563 – 2570 ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการ ได้กำหนดให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศและบริการ (NQIS) เป็นหนึ่ง ในโปรแกรมหลักของนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. ที่มอบหมายให้ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ทำหน้าที่เจ้าภาพโปรแกรมดังกล่าว ซึ่งจะต้องนำวัตถุประสงค์และผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญของโปรแกรมมาเป็นแนวทางในการกลั่นกรองโครงการเพื่อของบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 ต่อไป ณ โรงแรม ไมด้า แกรนด์ ทวารวดี จังหวัดนครปฐม

โดยกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการวันแรกของภาคเช้า นางอัจฉรา เจริญสุข ผู้อำนวยการ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมและบรรยาย เรื่อง “โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศและสถานภาพปัจจุบัน” และได้รับเกียรติจากวิทยา นายไชยวัฒน์  ตั้งเกริกโอฬาร ผู้อำนวยการกองบริหารมาตรฐานระหว่างประเทศ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม บรรยาย เรื่อง “การอำนวยความสะดวกทางการค้าจากมาตรการอุปสรรคทางเทคนิค (TBT framework in Thailand)” ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ บรรยาย เรื่อง “นโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563 – 2570 กับความคาดหวังและบทบาทของโปรแกรม 12 โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศและบริการ” และ ร.ท. อุทัย นรนิ่ม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ บรรยาย เรื่อง “ตัวอย่างของการจัดและควบรวมองค์กร NQI รูปแบบต่างๆ” สำหรับภาคบ่ายได้มีการแบ่งกลุ่มในการปรึกษาหารือประเด็นเฉพาะกลุ่มและประเด็นที่คาดหวังจะเข้าไปมีบทบาทในการดำเนินโปรแกรม 12 ของทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) หน่วยกำหนดมาตรฐานและผู้มีอำนาจออกข้อกำหนดและมาตรฐาน (2) หน่วยงานรับรองระบบงาน (3) หน่วยตรวจสอบและรับรอง (4) ผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เช่น ผู้กำหนดนโยบาย BOI สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค มหาวิทยาลัย ฯลฯ และได้สรุปสรุปประเด็นที่หารือในวันถัดไป

สำหรับวันที่สองได้มีการแบ่งกลุ่มตามโปรแกรมย่อยของโปรแกรม 12 เพื่อการกำหนดเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญของโปรแกรมย่อย วิเคราะห์ช่องว่างระหว่างสถานภาพปัจจุบันและเป้าหมายที่กำหนด แนวทางและความท้าทายในการปิดช่องว่าง และแผนงานที่ต้องดำเนินการ ของกลุ่มได้แก่ (1) การพัฒนาระบบนิเวศ NQI และการพัฒนำวัฒนธรรมคุณภาพและการประยุกต์ NQI ในระดับชุมชน (2) การพัฒนาความสามารถทางวิชาการและบริการด้าน NQI (3) การพัฒนาบุคลากรและวิชาชีพ NQI ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ NQI ได้เข้าร่วมและสนับสนุนในการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จำนวนมากกว่า 200 คน จึงทำให้ภารกิจดังกล่าวมีการจัดทำกรอบและแผนงานภายใต้โปรแกรม 12 ตามนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่ส่วนหนึ่งได้เป็นกรอบแนวทางการพัฒนาระบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน เพื่อให้เกิดเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศต่อไป ดังมีวิสัยทัศน์ “เตรียมคนไทยแห่งศตวรรษที่ 21  พัฒนาเศรษฐกิจที่กระจายโอกาสอย่างทั่วถึง สังคมที่มั่นคง และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยสร้างความเข้มแข็งทางนวัตกรรมระดับแนวหน้าในสากล นำพาประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว”

ภาคเช้า (23 กันยายน 2562)

ภาคบ่าย (23 กันยายน 2562)

ภาคเช้า-บ่าย (24 กันยายน 2562)

บรรยากาศสรุปผลการประชุมวันแรก

บรรยากาศประชุมกลุ่มย่อยและสรุปผลการประชุม