ในหลวง-พระราชินี ทรงเปิดพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า (15 ตุลาคม 2562)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายพินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายสุวิทย์  เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เฝ้าฯ รับเสด็จ

การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จเข้าสู่พลับพลาพิธี ทรงจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการบูชาพระพุทธนวราชบพิตร จากนั้น ประทับพระราชอาสน์ ทรงศีล จากนั้น ผู้บริหารองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร และหนังสือที่ระลึก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาของการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า พร้อมทั้งกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ เปิดพิพิธภัณฑ์
ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายชื่อาคาร “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” แล้วเสด็จเข้าพลับพลา แล้วเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการต่าง ๆ ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ทรงลงพระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยในสมุดที่ระลึก แล้วเสด็จฯ กลับ

พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า “Rama 9 Museum” เป็นโครงการที่ริเริ่มเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 5 ธันวาคม 2550 โดยคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ อนุมัติงบประมาณ 1,890 ล้านบาท เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 ให้ดำเนินการจัดสร้าง ภายใต้หัวข้อหลักในการนำเสนอคือ “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา การอยู่ร่วมกันอย่างยุ่งยืน” เพื่อแสดงให้เห็นถึงหลักการคิด วิธีการทรงงาน และกระบวนการค้นหาคำตอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนการธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงนำไปแก้ปัญหา พระราชทานแก่พสกนิกรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย

“พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก ด้วยเนื้อที่กว่า 42 ไร่ นำเสนอสาระที่เป็นหลักคิด หลักการ หลักปฏิบัติ ในเชิงกระบวนการที่เป็นสากล สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทุกระบบนิเวศ โดยใช้การแก้ปัญหาตามสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกันและการอยู่อย่างยั่งยืนกับธรรมชาติ อันจะนำไปสู่การมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ระบบนิเวศ ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และการเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรู้เท่าทัน ตามแนวคิดและหลักการทรงงานของพระบรทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานไว้

ในการนี้ผู้บริหารและพนักงาน มว. ได้ร่วมเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ด้วย ณ “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี