ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อว. เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG และนวัตกรรมด้วย NQI ให้เป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจ“การพัฒนาความสามารถของหน่วยตรวจสอบและรับรอง”ระหว่างภาคการศึกษากับกรมวิทยาศาสตร์บริการ พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG และนวัตกรรมด้วย NQI” (Driving BCG Economy and Innovation with NQI) ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง“โครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศกับการขับเคลื่อนนวัตกรรมไทยสู่เชิงพาณิชย์” จัดโดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ ชึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย หน่วยงานภาคการศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 250  คน ณ โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพฯ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ความสำคัญเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure) หรือ NQI เป็นระบบที่มีบทบาทสำคัญต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแข่งขันด้วยคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัย เพื่อให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น ยอมรับสินค้า การช่วยยกระดับการผลิต ลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย การส่งออกเป็นไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีปัญหาอุปสรรคทางการค้า ผลักดันให้เกิดการเจริญเติบโตของความสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกและเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

ดร.สุวิทย์ฯ ปาฐกถาพิเศษ เน้นย้ำว่าปัจจุบันรัฐบาลกำลังผลักดันการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio – Circular- Green Economy โดยเตรียมจะประกาศให้ปี 2020 เป็นปี BCG Economy ปีแห่งเศรษฐกิจยั่งยืน ขับเคลื่อนความมั่งคั่งทั่วไทย เศรษฐกิจ BCG นั้นมีความพิเศษต่อประเทศไทยซึ่งมีความหลากหลายทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ตอบโจทย์ใน 6 มิติ คือ ต่อยอด เชื่อมโยง ตอบโจทย์ ครอบคลุม กระจาย และสานพลัง โดยเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย 4 ตัวขับเคลื่อน ได้แก่ ด้านการพัฒนา 4 สาขายุทธศาสตร์ ด้านการเตรียมกำลังคน ด้านผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการการพัฒนาเชิงพื้นที่ และด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า 4 ตัวสนับสนุน ได้แก่ ด้านปลดล็อคข้อกำจัดทางกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ด้านโครงสร้างพื้นฐานสำคัญและสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านการสร้างความสามารถของกำลังคน และด้านยกระดับเครือข่ายพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่งการทำงานของกระทรวงจะเป็นการทำงานในรูปแบบจตุภาค (quadruple helix) ที่มีมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยเป็นแกนหลักของกระทรวง อว.ดำเนินงานร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคชุมชน รวมทั้งพันธมิตรจากต่างประเทศ การที่ไทยจะพัฒนาได้ทันโลกในศตวรรษที่ 21 นื้จะต้องทำการพลิกโฉมเศรษฐกิจของประเทศจากทำมากได้น้อยไปสู่ทำน้อยได้มาก เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งจะเร่งให้ไทยสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศพัฒนา

ในการนี้ ดร.สิวินีย์  สวัสดิ์อารี หัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า ผู้แทน สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) เข้าร่วมการเสวนา ให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงานใน หัวข้อ “โครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพเพื่อรองรับการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ” นอกจากนี้ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแลเรื่องระบบมาตรวิทยาของประเทศ ได้ร่วมจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ เรื่อง มาตรวิทยา (metrology) ที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในงานโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ ที่เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้การวัด แม่นยำและเที่ยงตรง  กระบวนการนี้เริ่มต้นจากการสถาปนามาตรฐานการวัดแห่งชาติ เพื่อเป็นต้นทางของความสามารถสอบกลับได้ทางมาตรวิทยา ของประเทศ และเชื่อมโยงมาตรฐานการวัดแห่งชาติกับนิยามของหน่วยเอสไอ เพื่อเชื่อมความสามารถสอบกลับได้ทางมาตรวิทยาภายในประเทศกับความสามารถสอบกลับได้ทางมาตรวิทยาระหว่างประเทศ ซึ่งงานด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า NQI (National Quality Infrastructure) คือระบบงานที่ประกอบไปด้วย องค์กร (หลายองค์กรทั้งจากภาครัฐและเอกชน) โดยมีนโยบาย กฎหมายและกรอบการกำกับดูแล รวมถึงแนวปฏิบัติที่จำเป็นร่วมกันในการสนับสนุนและยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัย และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของสินค้า บริการ และกระบวนการ    องค์กรในระบบ NQI ดำเนินงานร่วมกันภายใต้กระบวนการ 5 ด้าน ได้แก่ 1.มาตรวิทยา (metrology) 2.การกำหนดมาตรฐาน (Standardization) 3.การรับรองระบบงาน (Accreditation) 4.การตรวจสอบและรับรอง (Conformity Assessment 5. การกำกับดูแลตลาด (Market Surveillance) ซึ่ง NQI จำเป็นต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการพัฒนาสู่ความมีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของสินค้าและบริการ   ดังนั้น หากประเทศไทยจัดการระบบ NQI ให้มีสมรรถนะ จะช่วยยกระดับ “สินค้าและบริการของไทย” ให้ขายได้ แข่งขันได้ ราคาดี และได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ