มาตรวิทยาจับมือภาคการศึกษา เดินหน้าบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์มาตรวิทยารุ่นใหม่รองรับ 4.0

ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้มีการสร้างผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0 ที่มีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัย ในการส่งเสริมบทบาทของมหาวิทยาลัยในการสร้างผู้ประกอบการเริ่มต้น และสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเพื่อก้าวสู่มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ

เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ  สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ( มว.)  โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มีการส่งต่อองค์ความรู้ด้านมาตรวิทยาซึ่งเป็นเสาสำคัญในการสร้างและพัฒนาระบบคุณภาพที่จะเข้าไปช่วยเพิ่มมูลค่า และมาตรฐานให้แก่ นวัตกรรม ได้มีการวางแผนบูรณาการร่วมกับภาคการศึกษา เพื่อเป็นการปูพื้นฐานในเรื่องของมาตรวิทยาและเป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆที่จำเป็นอย่างยิ่งในการสานต่อและเสริมสร้างระบบคุณภาพในอนาคต โดยในวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา  หัวเรือใหญ่ของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ นางอัจฉรา เจริญสุข ผู้อำนวยการ (ผมว.) พร้อมด้วยเรืออากาศโทอุทัย นรนิ่ม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (ผช.ผมว.)  และ ดร. สมจิตต์ ปาละกาศ คณะบดีคณะวิทยาศาสตร์ ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา จับมือร่วมบูรณาการภายใต้โครงการ  “เสริมทักษะวิชาชีพผู้ประกอบการด้านบริหารห้องปฏิบัติการและมาตรฐานเครื่องมือวัด ภายใต้โครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเกิดใหม่ที่มีการเติบโตสูง (Innovative Startup)” ณ ห้องประชุมใหญ่ คณะวิทยาศาสตร์ ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตศรีราชา จ.ชลบุรีโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจ Startup และมาตรฐานห้องปฏิบัติการกับระบบคุณภาพ ISO/IEC 17025 ให้แก่นิสิตและบุคลากรห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้นิสิตเป็นผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม และบุคลากรห้องปฏิบัติการมีแนวทางในการยกระดับห้องปฏิบัติการให้มีมาตรฐานตามระบบคุณภาพ ISO/IEC 17025 ได้  ซึ่งงานนี้นางอัจฉราได้ให้ความรู้ ในเรื่องของ การเตรียมความพร้อมสำหรับธุรกิจ Startup และธุรกิจให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ และสอบเทียบ และเรืออากาศโท อุทัย ได้บรรยายเกี่ยวกับ ห้องปฏิบัติการ วิเคราะห์ ทดสอบ และสอบเทียบตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025

ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในการก้าวสู่มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ และส่งเสริมบทบาทของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ และดำเนินกิจกรรมการจัดการเรียนการสอน และการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรด้านความเป็นผู้ประกอบการ รวมทั้งสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนด้านความเป็นผู้ประกอบการ ตลอดจนพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการอย่างเข้มข้นให้แก่นิสิตซึ่งในอนาคตจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้าง พัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย