3 องค์กรร่วมมือพัฒนาข้าวไทยสู่มาตรฐานสินค้าสากล (8 มกราคม 2564)

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร. ธัญบุรี) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และองค์การบริหารส่วนตำบลคลองสี่ ทั้ง 3 องค์กรได้ร่วมดำเนินการ “โครงการนวัตกรรมชีวภาพพัฒนากระบวนการปลูกข้าวปลอดภัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร การแปรรูปจากข้าวสู่มาตรฐานสินค้า OTOP ของกลุ่มเกษตรกร ในพื้นที่ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี” โดยมีวัตถุประสงค์ได้แก่ 1) เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับประชาชน นักศึกษาและบัณฑิตจบใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในเขตพื้นที่คลองสี่ 2) เพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวปลอดภัยและลดต้นทุนในกระบวนการปลูกข้าวด้วยนวัตกรรมเกษตรชีวภาพของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่คลองสี่ 3) เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวสู่มาตรฐาน GAP รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปข้าวสู่สินค้า OTOP ของชุมชนคลองสี่ และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชน ณ ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

ดร.จรัญ ยะฝา หัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ ดร.จีรพา บุญญคง หัวหน้ากลุ่มงานวิเคราะห์อินทรีย์เคมี พร้อมคณะ มว. นำทีมให้คำปรึกษาและแนะนำเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการให้เห็นถึงความสำคัญโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure: NQI) ที่ถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างหลักประกันด้านคุณภาพ ทั้งนี้ ทางทีมงานได้เก็บตัวอย่างข้าว ดิน และน้ำของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 5 พื้นที่ เพื่อนำไปวิเคราะห์และทดสอบเบื้องต้นในการขอยื่นการรับรองการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม หรือ Good Agriculture Practices (GAP) เป็นมาตรฐานที่ครอบคลุมการผลิตสินค้าเกษตรอย่างครบวงจร ตั้งแต่ ปัจจัยการผลิต การผลิต การเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ และการขนส่งการผลิตต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เนตรนภิส แก้วช่วย รองคณบดีฝ่ายวิจัยพัฒนาและบริหารวิชาการ มทร. ธัญบุรี เป็นผู้จัดการบริหารตำบลและรับผิดชอบโครงการ เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมรายตำบล ร่วมด้วย ผศ.ฐิตยา ศรขวัญ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร. ธัญบุรี และเจ้าหน้าที่ องค์การบริหารส่วนตำบลคลองสี่ ร่วมให้คำปรึกษาและแนะนำเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ การเพิ่มผลผลิต การแปรรูป การบรรจุภัณฑ์ การส่งเสริมการตลาด เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือโครงการดังกล่าวถือเป็นส่วนสำคัญที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร. ธัญบุรี ได้บริหารงานภายใต้แผนงานหลักของ “โครงการยกระดับเศรษฐกิจ สังคม รายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ” โดยมีวัตถุประสงค์คือ 1) ยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลและบูรณาการ โดยมหาวิทยาลัยเป็น System Integrator 2) จัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Community Big Data) 3) เพื่อให้เกิดการจ้างงาน ประชาชน นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ ให้มีงานทำและฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน รวม 1,600 คน 4) เพื่อให้เกิดการพัฒนาตามปัญหาและความต้องการของชุมชน ตามนโยบายของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) รับผิดชอบพื้นที่เป้าหมาย 6 จังหวัด ประกอบไปด้วย 80 ตำบล

ความร่วมมือทั้ง 3 องค์กรถือเป็นโอกาสที่ดีของเกษตรกรในการพัฒนาข้าวเกษตรอินทรีย์ให้มีคุณภาพได้มาตรฐานสากลและยกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญ สามารถเพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย ไม่มีสารเคมีตกค้าง ไม่มีศัตรูพืชและจุลินทรีย์ปนเปื้อน ทำให้ คุณภาพและความปลอดภัยของผลผลิตเป็นไปตามมาตรฐานสากลและมาตรฐานของประเทศผู้นำเข้า เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ตามระบบการจัดการคุณภาพ หลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) ซึ่งเป็นระบบที่ป้องกันหรือลดความเสี่ยงของอันตรายที่เกิดขึ้นในสินค้า เกษตรและอาหารของประเทศ