มว.จับมือภาคเอกชนพัฒนาชุดเครื่องมือตรวจวัดมลพิษทางด้านเสียง ให้ค่าความถูกต้องแม่นยำสูง ใช้งานสะดวก

โครงการพัฒนาชุดเครื่องมือตรวจวัดเสียงรบกวนจากยานพาหนะแบบเก็บค่าอัตโนมัติด้วยการวัดรอบเครื่องยนต์แบบเทคนิคการวัดโดยอ้อมชนิดหลายเซ็นเซอร์ (Automatic Vehicle Noise Reading System by using Indirect Measuring Engine RPM Multi-Sensor Technique) โดยสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

 

กิจกรรม ภายใต้ โครงการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ สู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยเทคโนโลยีมาตรวิทยา  โดยกลุ่มงานเสียงและการสั่นสะเทือน มว. และ บริษัท สหวิทย์ ซัพพลาย แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ร่วมมือเพื่อการต่อยอดพัฒนาระบบตรวจสอบมลพิษทางด้านยานยนต์ ทั้งทางด้านเสียงและควันดำ ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ ดำเนินการพัฒนาเครื่องมือวัดดังกล่าว เพื่อรองรับการนำไปใช้งานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานขนส่งจังหวัดสาขา รวม 14 แห่ง และสถานตรวจสภาพรถอีกมากกว่า 2,108 แห่งทั่วประเทศ แต่ทั้งนี้ยังขาดองค์ความรู้ที่เพียงพอในการที่จะพัฒนาระบบให้ถึงจุดที่สมบูรณ์ได้

เนื่องจากการตรวจวัดมลพิษทางด้านเสียงมีขั้นตอนในการปฏิบัติงานที่ยากและซับซ้อน อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดในกระบวนการขณะทำการวัดค่า ส่งผลให้เกิดการวัดที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบประกาศของทางราชการเท่าที่ควร เนื่องจากปัญหาของวิธีการตรวจวัดค่าระดับมลพิษเสียงนั้นจะต้องสอดคล้องตามช่วงความเร็วรอบเครื่องยนต์ในแต่ละชนิดของเครื่องยนต์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และจะต้องมีเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานมากกว่า 2-3 คน ที่ผ่านมาทางบริษัทฯ ได้มีการพัฒนาระบบตรวจสอบมลพิษทางด้านเสียงของรถยนต์ ให้เป็นระบบที่สามารถควบคุมการตรวจวัดมลพิษด้านเสียงที่สามารถใช้งานด้วยผู้ปฏิบัติงานเพียงคนเดียว และมีความถูกต้องในระดับหนึ่ง

แต่การที่จะพัฒนาเครื่องมือไปสู่จุดที่สมบูรณ์แบบและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้นั้น จะต้องสามารถทดสอบได้อย่างถูกต้องตามระเบียบของกรมควบคุมมลพิษ และกรมการขนส่งทางบก พร้อมทั้งสอดคล้องตามมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับ และสามารถตอบสนองการใช้งานของการปฏิบัติงานจริงในหน้างานได้อย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ มีผลการวัดที่มีความถูกต้อง (Accuracy) ได้ค่าการวัดที่เที่ยงตรง (Precision) มีความคงเส้นคงวาของเครื่องมือวัดตลอดช่วงเวลาที่ทำการวัด (Stability) พร้อมทั้งได้รับรองมาตรฐานของชุดเครื่องมือหรือได้ทำการทดสอบกระบวนการทำงานของเครื่องมือจากหน่วยงานด้านการวัดของประเทศ (Testing Report หรือ Testing Certifications) ตลอดจนมีวิธีการหรือขั้นตอนการวัดของเครื่องมือสอดคล้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด (Legal Procedure)

จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งโครงการพัฒนาชุดเครื่องมือตรวจวัดเสียงรบกวนจากยานพาหนะฯ ดังกล่าว โดย มว. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลและพัฒนาระบบการวัดของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคนิคการวัดเสียงรบกวนจากยานพาหนะให้เป็นไปตามกฎหมายและประกาศของกรมควบคุมมลพิษ กรมการขนส่งทางบก รวมถึงมาตรฐานสากลตาม เช่น  UNECE R51 (united  Nations Economic Commission for Europe Regulation Number 51 Uniform provisions concerning the approval of motor vehicles having at  least four wheels with regard to their noise emissions)  และ UN Regulation No. 41Motorcycle Noise Uniform Provisions Concerning the Approval of Motor Cycles with regard to Noise รวมไปถึงการพัฒนา Software and Hardware ด้วยเทคโนโลยีมาตรวิทยา ทำให้สามารถสอบกลับไปยังมาตรฐานแห่งชาติได้ (Traceability)  มีความถูกต้องแม่นยำในการวัด และมีขนาดที่เล็กกะทัดรัด  สร้างความสามารถทางการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ และจำหน่ายในประเทศในราคาที่เหมาะสม  สามารถลดต้นทุน ในการนำเข้า เครื่องมือ และการเข้าถึงเครื่องมือของหน่วยงานหรือผู้ใช้งานในราคาที่ถูกกว่าต่างประเทศ ไม่น้อยกว่า 50%  ซึ่งหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานที่มีความจำเป็นในการใช้เครื่องมือตรวจวัดมลพิษด้านเสียงรบกวนสามารถจัดหาได้จากภายในประเทศเองไม่ต้องไปจัดหาซื้อระบบนี้จากต่างประเทศที่มีราคาสูง

โครงการพัฒนาชุดเครื่องมือตรวจวัดเสียงรบกวนจากยานพาหนะแบบเก็บค่าอัตโนมัติด้วยการวัดรอบเครื่องยนต์แบบเทคนิคการวัดโดยอ้อมชนิดหลายเซ็นเซอร์ เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ สู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยเทคโนโลยีมาตรวิทยา (http://smes.nimt.or.th/) จัดตั้งขึ้นโดย สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) สังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนามาตรฐานการวัดภายในประเทศให้มีความถูกต้องแม่นยำและมีความสามารถสอบกลับได้ (Traceability)  ไปยัง SI Units เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ให้มีขีดความสามารถการแข่งขันสำหรับตลาดในประเทศ รวมทั้งสร้างความสามารถในการแข่งขันระดับสากล ผ่านการยกระดับคุณภาพของสินค้าและบริการ การเพิ่มผลิตภาพของผู้ประกอบการ และการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

 

 

ผู้รับผิดชอบโครงการ

นายอธิราช  ทองบุญ

นักมาตรวิทยาชำนาญการ กลุ่มงานเสียงและการสั่นสะเทือน

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ

 

ลิ้งค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สถาบันมาตรวิทยาฯส่งชุดปฏิบัติการควันดำ-เสียงดังลงภาคสนาม แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

มว. ร่วมมือ คพ. เสริมศักยภาพมาตรฐานการวัดเพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมไทย (6 ธันวาคม 2560)

มาตรวิทยากับการตรวจวัดควันดำรถยนต์

มาตรวิทยามิติ จัดกิจกรรมยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์สู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยมาตรวิทยา (17 กุมภาพันธ์ 2564)