มว. ร่วมจัดนิทรรศการในงาน “วันนิทรรศการวิชาการ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ครั้งที่ 15 ประจำปี 2565” (29-30 พฤศจิกายน 2565)

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) เข้าร่วมจัดนิทรรศการในงาน “วันนิทรรศการวิชาการ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ครั้งที่ 15 ประจำปี 2565” ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ในการเผยแพร่ผลงานวิจัยและโครงงานวิจัยของอาจารย์และบุคลากรของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นิทรรศการวิชาการดังกล่าวมีส่วนส่งเสริม พัฒนา และขยายเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ากับสถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ร่วมนำเสนอผลงาน โดยมี พลโทปิยพงศ์ กลิ่นพันธ์ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งภายในงานได้จัดให้มีการนำเสนอผลงานวิจัยและโครงงานเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 1.โครงการวิจัยของอาจารย์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 2. ศูนย์วิจัยสหวิทยาการ เฉลิมพระเกียรติ 5 รอบ พลเอกหญิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 3.โครงการและผลงานวิจัยของสถาบันภายในกระทรวงกลาโหม 4.โครงการและผลงานวิจัยของสถาบันภายนอก  และ 5. โครงงานวิจัยของนักเรียนนายร้อยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

ในการนี้ น.ส.สิวินีย์ สวัสดิ์อารี หัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้าพร้อมด้วย พนักงาน มว. เข้าร่วมงานดังกล่าว โดยร่วมนำเสนอผลงานทางวิชาการในหัวข้อ  การวิจัยและสร้างมาตรฐานการวัดเชิงควอนตัมของประเทศไทย” โดยการจัดนิทรรศการครั้งนี้ได้รายงานความก้าวหน้าของการวิจัยมาตรฐานการวัดระดับปฐมภูมิ 3 รายการ ได้แก่ นาฬิกาอะตอมเชิงแสงด้วยไอออนเย็นของธาตุอิตเทอร์เบียม (Ytterbium ion optical clock)  สะพานไฟฟ้าอิมพิแดนซ์เชิงควอนตัม (quantum impedance bridge)  และตราชั่งแบบคิบเบิล (Kibble balance) ซึ่งจะเป็นมาตรฐานการวัดระดับปฐมภูมิของเวลา อิมพิแดนซ์ และมวล ตามลำดับ   มาตรฐานการวัดทั้งสามรายการนี้เป็นระบบขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน เกิดจากการสร้างปรากฏการณ์ธรรมชาติเชิงควอนตัมที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงและคงตัว แล้วนำมาผนวกกับระบบวัดที่มีความไวอย่างยิ่งเพื่อสำแดง หรือถ่ายทอดลักษณะเฉพาะเชิงควอนตัมนั้นมาเป็นสัญญาณที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางมาตรวิทยาต่อไป ทั้งนี้เพือเป็นการประชาสัมพันธ์องค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนิยามของ ระบบหน่วยระหว่างประเทศ หรือเอสไอ (International System of Units, SI) ตามนิยามปี 2562 ที่วางอยู่บนค่าคงที่ที่มีค่าแน่นอนจำนวน 7 ตัว รวมไปถึงการสร้างความรู้ ความเข้าใจ บทบาท หน้าที่ ภารกิจ ของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพื่อสร้างความรับรู้และสร้างความตระหนักให้สังคมได้รับทราบ และเห็นความสำคัญของงานด้านมาตรวิทยาที่เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของงานด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ ที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงงานด้านความมั่นคงของชาติ ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จ.นครนายก

ท่านสามารถ Download แผ่นพับ – การวิจัยและสร้างมาตรฐานการวัดเชิงควอนตัมของประเทศไทย และ Posterนิทรรศการ ทั้ง 5 แผ่นได้ที่

 https://mx.nimt.or.th/?p=15899