มว.ร่วมงานเปิดตัว (Kick off) และ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมรรถนะสูง

วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) จัดงานเปิดตัว (Kick off) และ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences : TAS) โดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดตัวและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษา รมว.อว.  ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผอ.บพค. ผู้บริหารกระทรวง อว. ผู้บริหารสถาบันการศึกษา และหน่วยงานเอกชน เข้าร่วม ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (โยธี)

“ธัชวิทย์” มีกลไกขับเคลื่อนใน 3 มิติ ได้แก่ 1) Frontline Think Tank หรือคลังความคิดนักวิทย์เพื่อเป็นศูนย์กลางของผู้เชี่ยวชาญ 2) Frontier Science Alliance การทำวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier research) ผลกระทบสูงต่อเศรษฐกิจและสังคม และรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และ 3) Future Graduate Platform หรือการสร้างและพัฒนาบัณฑิตวิทยสมรรถนะสูงที่พัฒนาจากความร่วมมือของสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ธัชวิทย์ เกิดจากความประสงค์ที่ต้องการให้วิทยาศาสตร์และวิทยาการของไทยทำงานร่วมกัน นักวิทยาศาสตร์ไม่ควรทำงานแค่เฉพาะทาง ธัชวิทย์ต้องเป็น Think Tank ของประเทศ หากประเทศมีปัญหาที่ต้องการคำตอบ ธัชวิทย์ต้องเป็นหนึ่งในการตัดสินใจนั้น และเป็น virtual organization โดยไม่จำเป็นต้องสร้างหน่วยงานใหม่ แต่นำคนเก่งจากหลายสถาบันมารวมกัน พัฒนาเรื่องที่น่าสนใจ ให้มีความก้าวหน้าระดับโลก ต้องสร้างคนที่เหมาะสม พร้อมทำงานให้อุตสาหกรรม และสอดคล้องกับทิศทางของโลก ซึ่งต้องทำให้เร็ว ทำให้มาก จึงจะประสบความสำเร็จ ธัชวิทย์จะเป็นสูตรสำเร็จในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในกระทรวง อว. ที่ประกอบด้วยสถาบันการศึกษาชั้นนำ และหน่วยงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งสิ่งที่ตนจะขอให้ธัชวิทย์ทำต่อจากนี้ คือ ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก “งานใดทำแล้วไม่สนุก งานนั้นยากจะเก่ง”

ในการนี้ พล.ต.ท.พรชัย สุธีรคุณ ผู้อำนวยการ มว.  เข้าร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย โดย มว.มีความสนใจในการผลิตบัณฑิตด้าน Quantum Measurement ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ มว. มองว่าบทบาทของ “ธัชวิทย์” จะช่วยเร่งกระบวนในการผลิตนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ ให้มากขึ้น ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดจากโครงการนี้จะทำให้นักวิจัยรุ่นใหม่สามารถที่จะปรับตัวเพื่อที่จะร่วมงานในองค์กรที่จะเข้าไปทำงานได้เร็วขึ้น ซึ่งการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยของหน่วยงานต่างๆ และสถานศึกษาจะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติเป็นอย่างมากต่อการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ ที่มีคุณภาพในระดับสากล เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป นอกจากนี้ภายในงานยังได้จัดให้มีการแสดงนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆ โดย ดร.ปิยพัฒน์ พูลทอง นักมาตรวิทยาชำนาญการพิเศษ ฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า มว. ได้ร่วมนำเสนอผลงานหัวข้อ  “การวิจัยและสร้างมาตรฐานการวัดเชิงควอนตัมของประเทศไทย” เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ และสร้างความเข้าใจ บทบาท หน้าที่ ภารกิจ ของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ไปสู่สาธารณชนต่อไป