ก้าวแห่งความภาคภูมิใจ… มว. ร่วมผลักดันชูศักยภาพ “นักมาตรวิทยาหญิงเก่ง” ของไทย… ขึ้นแท่นประธานคณะกรรมการวิชาการด้านระบบคุณภาพในเวทีระดับโลก

เป็นที่น่าภาคภูมิใจของวงการมาตรวิทยาไทยเราอีกครั้งหนึ่ง ที่สถาบันมาตรวิทยาฯ ได้ผลักดันส่งเสริมนักมาตรวิทยาหญิงเก่ง ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำคณะกรรมการวิชาการ ขององค์กรมาตรวิทยาระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่มีสมาชิกกว่า 30 ประเทศ กว่า 50 หน่วยงาน

มาทำความรู้จักกับ คุณรัคณาวรรณ วงศ์พิทยาดิศัย (หรือ คุณฟ้า) หัวหน้าห้องปฏิบัติการความแข็ง นักมาตรวิทยาชำนาญการพิเศษ จากฝ่ายมาตรวิทยาเชิงกล และ รองผู้จัดการคุณภาพ ของสถาบันมาตรวิทยาฯ เธอคนนี้ได้มีส่วนร่วมในการทำงานระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการยอมรับความสามารถจากสถาบันมาตรวิทยานานาประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการวิชาการของ Asia Pacific Metrology Programme (APMP) สาขาระบบคุณภาพ (Technical Committee for Quality System; TCQS) ที่มีความสำคัญอย่างมาก ในฐานะผู้นำในการสร้างความเข้มแข็งและการพัฒนาระบบคุณภาพมาตรวิทยาของประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ความภาคภูมิใจเช่นนี้พลาดไม่ได้ที่ต้องขอทำความรู้จักกับนักมาตรวิทยาหญิงรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีความรู้รอบด้านในเรื่องระบบคุณภาพจากสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) บทบาทและหน้าที่ของเธอในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยยกระดับความเชื่อมั่นของระบบคุณภาพมาตรวิทยา และส่งผลต่อการสร้างการยอมรับขีดความสามารถทางการวัดของสถาบันมาตรวิทยานานาประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ต่อเวทีโลก ได้อย่างไร เราขอเชิญชวนท่านที่สนใจติดตามบทสัมภาษณ์ผ่านมุมมองประสบการณ์เรื่องราวดีๆ จากเธอคนนี้กัน

ถาม : ที่มาและบทบาทของ TCQS มีความสำคัญอย่างไร

ตอบ : TCQS (Technical Committee for Quality System) คือคณะกรรมการวิชาการในสาขาระบบคุณภาพ ขององค์กรด้านมาตรวิทยาระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่เรียกว่า APMP (Asia Pacific Metrology Programme) ที่เกิดจากการรวมตัวกันของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติของประเทศต่างๆในเอเชียแปซิฟิก

TCQS มีบทบาทเป็นอย่างมากในการแลกเปลี่ยนพัฒนาความรู้ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดของ ISO/IEC 17025 (General requirements for the competence of testing and calibration laboratories) และ ISO 17034 (General requirements for the competence of reference materials producers) ทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการดูแลรักษาระบบคุณภาพ ของขีดความสามารถทางการวัดทุกสาขาของประเทศสมาชิกใน APMP เพื่อให้เกิดการยอมรับและได้รับความเชื่อมั่นจากประเทศในภูมิภาคอื่นๆทั่วโลก ภายใต้ข้อตกลงร่วมนานาชาติ ที่เรียกว่า CIPM Mutual Recognition Arrangement (CIPM MRA) อีกด้วย

ถาม : การดำรงตำแหน่งนี้สมาชิกนานาประเทศมีความคาดหวังกันอย่างไร

ตอบ : นอกจากการแลกเปลี่ยนพัฒนาความรู้ที่กล่าวไปข้างต้น หน้าที่ที่ถูกคาดหวังและท้าทายที่สุดของตำแหน่งนี้คือการเป็นตัวแทนของ APMP ที่ทำให้นานาประเทศทั่วโลก เชื่อมั่นและยอมรับการดูแลรักษาระบบคุณภาพของขีดความสามารถทางการวัดของประเทศสมาชิก โดยการกำกับ ปรับปรุงกฎระเบียบที่วางไว้ใน APMP  การทำ QS review (ตรวจสอบระบบคุณภาพ) ของทุกๆขีดความสามารถทางการวัดของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติใน APMP ก่อนที่จะยื่นการขอรับรองความสามารถในระดับนานาชาติกับสำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (International Bureau of Weights and Measures : BIPM) เพื่อเป็นการรับรองความสามารถในระดับสากล ทำให้ตำแหน่งนี้สมาชิกนานาประเทศค่อนข้างจะให้ความเกรงใจเป็นอย่างมาก

ถาม : APMP TCQS Chair ต้องเตรียมตัวอย่างไรต่อบทบาทใหม่ในครั้งนี้

ตอบ : ดิฉันได้รับโอกาสดี ที่ได้รับความไว้วางใจจาก TCQS Chair คนก่อน Dr. Yang Ping, NIM, China ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็น TCQS Vice Chair เป็นเวลา 3 ปี ก่อนเข้ารับตำแหน่ง TCQS Chair เต็มตัวตั้งแต่ปลายปี 2022 จึงเหมือนกับว่าได้เตรียมความพร้อมได้มาระยะนึงเลยทีเดียว บทบาทของ TCQS Chair จะต้องเป็นคนที่เข้าใจกฎระเบียบของ APMP และ CIPM MRA เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นผู้คุมกฎ ดังนั้นการศึกษากฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งเอกสารข้อกำหนด ให้แตกฉาน ในระดับที่สามารถให้คำแนะนำประเทศสมาชิกได้ เป็นสิ่งที่จำเป็น ต้องทำงานและมีการประสานงานอย่างมี Soft Skill รวดเร็ว มีการบริหารจัดการ และการตัดสินใจที่ดี เนื่องจากงานของ TCQS นั้น จะเกี่ยวข้องกับทุก Technical Committee ใน APMP ไม่สามารถล่าช้าได้ นอกจากนี้ต้องผลักดันให้เกิดกิจกรรมความร่วมมือในการช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนา ให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น

ถาม : การดำรงตำแหน่งในครั้งนี้ เป็นการสร้างโอกาสหรือประโยชน์ให้วงการมาตรวิทยาไทยหรือสถาบันมาตรวิทยาฯ ได้อย่างไร

ตอบ : สิ่งแรกคือทำให้ประเทศต่างๆ ให้การยอมรับตัวแทนจากสถาบันมาตรวิทยาฯ ประเทศไทย ที่ผ่านมาผู้ดำรงตำแหน่งระดับ Technical Chair ส่วนใหญ่ มักจะมาจากประเทศพัฒนาประเทศอื่นใน APMP หากเราปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยนั้นมีศักยภาพ ก็จะได้รับความเชื่อมั่นจากเพื่อนนานาประเทศ ส่งผลให้การเจรจาขอความร่วมมือในเรื่องของการแลกเปลี่ยนพัฒนาความรู้ในสาขามาตรวิทยา สามารถทำได้ง่ายขึ้น

TCQS Chair ยังมีหน้าที่สำคัญ ในการเป็นตัวแทนจาก APMP เพื่อเข้าร่วมประชุม JCRB (Joint Committee of the Regional Metrology Organizations and the BIPM) ทำให้ได้รับข่าวสาร เทรนด์การพัฒนาของวงการมาตรวิทยาโลก ได้เรียนรู้แบบแผนการทำงานระดับสากล ซึ่งเราสามารถนำมาถ่ายทอดสื่อสารต่อเพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทยเราได้ ต้องขอขอบพระคุณสถาบันมาตรวิทยาฯ ที่สนับสนุนอย่างเต็มที่ให้ทำหน้าที่ตรงนี้มากๆค่ะ

ถาม : ฝากมุมมองในการการสร้างความเชื่อมั่นของระบบคุณภาพของขีดความสามารถทางการวัด จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร

ตอบ : การสร้างความเชื่อมั่นของระบบคุณภาพเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างการยอมรับในศักยภาพและขีดความสามารถทางการวัด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ ทำให้เกิดกลไกการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของประเทศ ให้ได้มาตรฐานที่สูงขึ้น มีคุณภาพดีขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น ต่อผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศ ทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เพิ่มมูลค่าและปริมาณการส่งออก นำมาซึ่งเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในประเทศ