คุณภาพและมาตรฐานของข้าวไทย คุณค่าที่ต้องต่อยอดจากต้นทุนเดิมด้วยการสร้างนวัตกรรมและบูรณาการ

ข้าว คือ พืชที่หล่อเลี้ยงชีวิตเรามาแต่โบราณ  ประเทศไทยมีข้าวหลากหลายสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประเทศไทยเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวที่ได้รับการยอมรับในลำดับต้นๆ ของโลก แต่ในปัจจุบันตลาดการค้าข้าวโลกมีการแข่งขันกันมากขึ้น ทั้งตลาดข้าวพรีเมียมและข้าวสารเจ้า เนื่องจากมีผลผลิตจากหลายประเทศ เช่น เวียดนาม อินเดีย กัมพูชา และกลุ่มประเทศละตินอเมริกา อีกทั้งยังมีในเรื่องของราคาที่เรายังไม่สามารถขายได้ในราคาต่ำกว่าคู่แข่ง  แต่อย่างไรก็ตามกระแสผู้บริโภคทั่วโลกได้มีการตื่นตัวในเรื่องของสุขภาพมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งเราเองต้องตระหนักว่า เรามิอาจปลูกข้าวเพียงเพื่อให้ผู้คนได้อิ่มท้องเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องช่วยให้ผู้คนได้รับประโยชน์และความปลอดภัยด้วยคุณค่าจากภูมิปัญญาของชาวนา จากนวัตกรรม และความร่วมมือของคนไทยในทุกภาคส่วน และนั่นก็คือแนวคิดริเริ่มอันเป็นที่มาของโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของ โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของข้าวไทย ด้วยมาตรวิทยาเพื่อการแข่งขันทางการค้า โดยมี ดร.จีรพา บุญญคง หัวหน้ากลุ่มงานวิเคราะห์อินทรีย์เคมี ฝ่ายมาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) เป็นหัวหน้าโครงการ

 

ที่มาของโครงการ

ปัจจุบันตลาดการค้าข้าวโลกมีการแข่งขันกันมากขึ้น ทั้งตลาดข้าวพรีเมียมและข้าวสารเจ้า เนื่องจากมีผลผลิตจากหลายประเทศ เช่น เวียดนาม อินเดีย กัมพูชา และกลุ่มประเทศละตินอเมริกา ดังนั้นการตรวจสอบคุณภาพของข้าวให้เป็นไปตามข้อกำหนด และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากลจึงเป็นสิ่งสำคัญ ตัวอย่าง เช่น ในกลุ่มสหภาพยุโรปมีการกำหนดระดับการปนเปื้อนจีเอ็มโอ ไม่เกินร้อยละ 0.9 ของน้ำหนัก  Codex กำหนดให้มีการปนเปื้อนของอะฟลาทอกซินรวมในอาหารและผลผลิตทางการเกษตรได้ไม่เกิน 15 พีพีบี CODEX STAN 193-1995 กำหนดให้มีสารหนูไม่เกิน 0.2 ppm แคดเมียม ไม่เกิน 0.4 ppm ตามมาตรฐาน มกษ 9002-2559 ได้กำหนดปริมาณสารพิษตกค้างจากสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรรวมทั้งข้าวเปลือกและข้าวสารไว้ และเมื่อปี 2008 ได้มีการตรวจพบอะฟลาทอกซินปนเปื้อนในข้าวสารแตกหักที่ส่งไปจำหน่ายให้กับผู้ผลิตอาหารแปรรูปในญี่ปุ่นจำนวน 24 ตัน ทำให้ข้าวอีกกว่า 3,000 ตันถูกระงับการส่งออกทันที ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือต่อสินค้าไทยเป็นอย่างมาก

การวัดที่มีความถูกต้องแม่นยำและสามารถสอบกลับได้ทางมาตรวิทยาที่สากลยอมรับนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการวัดในพารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของข้าว หลักๆ ก็คือ การหาปริมาณแอมิโลส (Amylose)  ในข้าวเพื่อระบุความนุ่มหรือแข็งประด้างของข้าวเมื่อหุงสุข คุณค่าทางโภชนาการของข้าว (Nutrition) เช่น ปริมาณเส้นใย (Fiber) สารต้านอนุมูลอิสระในข้าวสี การตรวจวัดการปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อรา (Mycotoxin) การตรวจวัดโลหะหนักในข้าว (สารหนู แคดเมียม ตะกั่ว และปรอท) (Heavy metals : As Cd Pb Hg) การตรวจวัดการดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms, GMOs) และการตรวจวัดการตกค้างของสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช (Pesticide residues) เป็นต้น

 

มว.เข้าไปมีส่วนร่วมในด้านใด

บทบาทหน้าที่ของมว. คือการรักษามาตรฐานการวัดและถ่ายทอดสู่ผู้ใช้งานคือห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ ทดสอบและสอบเทียบ มว.ได้มีการพัฒนามาตรฐานวิธีการวัด ผลิตวัสดุอ้างอิงรับรองที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในข้าว และวัสดุอ้างอิงสำหรับการวัดความชื้นในข้าวเพื่อจำหน่ายให้กับห้องปฏิบัติการทดสอบและผู้ประกอบการ รวมทั้งการจัดโปรแกรมเปรียบเทียบผลการวัดหรือทดสอบความชำนาญในประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพของห้องปฏิบัติการทดสอบ โดยการบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินแผนงานได้อย่างสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพนี้จะส่งผลให้ข้าวไทยมีการการันตีคุณภาพ สร้างความแตกต่างจากข้าวอื่นๆ ภายใต้แนวคิดการเพิ่มมูลค่าของข้าวไทยเน้นไปที่อุตสาหกรรมปลายน้ำ (ข้าวบรรจุถุง)

 

 

 

จากอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของข้าวไทยที่มีอยู่แล้ว เพิ่มมูลค่าด้วยการเข้าสูกระบวนการของระบบคุณภาพ เราจะได้ข้าวที่การันตีคุณภาพ ลดข้อกีดกันทางการค้า เพิ่มมูลค่า และความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาดโลก

มว.มุ่งมั่นผลักดันให้โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของข้าวไทยเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เข้มแข็งและยั่งยืน มีการผ่านการทำงานอย่างสอดประสานของหน่วยงานต่างๆภายใต้โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ โดยหน้าที่หลักตามพันธกิจของ มว.คือการพัฒนาวิธีวัดที่เกี่ยวข้องในเรื่องข้าว ผลิตวัสดุอ้างอิงรับรองด้านการวิเคราะห์ทดสอบข้าว รวมทั้งจัดโปรแกรมทดสอบความชำนาญ เพื่อสนับสนุนให้ห้องปฏิบัติการทดสอบในประเทศนำวัสดุอ้างอิงไปใช้ แต่แค่นั้นยังไม่พอ ต้องมีการผลักดันให้ห้องปฏิบัติการเหล่านั้นเข้าร่วมโปรแกรมทดสอบความชำนาญ เพื่อสนับสนุนให้ห้องปฏิบัติการได้รับการรับรอง ISO/IEC17025 เพื่อให้มีมาตรฐานที่ทั้งในและต่างประเทศยอมรับ สร้างความสามารถทางการแข่งขันและยกระดับมาตรฐานให้แก่ข้าวไทย

 

 

กิจกรรมที่ มว. ทำในโครงการนี้

มว.ได้มีการพัฒนาวิธีการวัดต่างๆตลอดจนจัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญเพื่อถ่ายทอดให้แก่ห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ได้แก่

  1. จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญ การวิเคราะห์ปริมาณแร่ธาตุและโลหะในข้าว ให้ครอบคลุมธาตุที่จำเป็นและโลหะปนเปื้อนในข้าวไทย เช่น As Cd Mn Mg Ca Zn Cu เป็นต้น
  2. พัฒนาวิธีการวัดระดับปฐมภูมิสำหรับการวิเคราะห์ปริมาณ Se และ Cd ในข้าว/ผลิตภัณฑ์จากข้าว โดยการใช้เทคนิคการเจือจางของไอโซโทปเฉพาะรูปฟอร์มกับเครื่องโครมาโทกราฟีของเหลวสมรรถนะสูงที่เชื่อมกับเครื่องอินดักทีฟลี่ คัปเปิลพลาสม่า แมส สเปกโตรมิเตอร์ (ID-ICP-MS)
  3. พัฒนาวิธีการวัดระดับปฐมภูมิสำหรับการวิเคราะห์ซีลีเนียมในผลิตภัณฑ์จากข้าวโดยใช้เทคนิค Gravimetric Standard Addition ICP-MS
  4. โปรแกรมทดสอบความชำนาญการวัดทางอินทรีย์เคมีในข้าว เช่น การวัดปริมาณไมโคทอกซิน เช่นอะฟลาทอกซินที่ปนเปื้อนในข้าว/ผลิตภัณฑ์จากข้าว
  5. วัสดุอ้างอิงสำหรับการวัดไมโคทอกซินในข้าว/ผลิตภัณฑ์จากข้าว
  6. พัฒนาวิธีการวัดสารต้านอนุมูลอิสระในข้าว/ผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่น gamma-oryzanol, GABA, anthocyanin
  7. พัฒนาวิธีการตรวจสอบสายพันธุ์ข้าว (วิธีวัด Bt63 ชนิด plasmid DNA ด้วย PCR)
  8. พัฒนาวัสดุอ้างอิงชนิด plasmid DNA เพื่อใช้ตรวจสอบ และวัดปริมาณข้าวดัดแปลงพันธุกรรม (วัสดุอ้างอิง Bt63 ชนิด plasmid DNA)

ซึ่งทางมว.มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมเหล่านี้ โดยการจัดทำฐานข้อมูลอ้างอิงของประเทศ พร้อมกิจกรรมเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการและการผลิตวัสดุอ้างอิงของประเทศผ่านทาง https://www.nimt.or.th/pt/

เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลด้านวัสดุอ้างอิง (Reference Material : RM) https://www.nimt.or.th/etrm/index.php  และ โปรแกรมทดสอบความชำนาญการวัด (Proficiency Testing : PT) ของประเทศ

ซึ่งนั่นคือความสำคัญของมาตรวิทยาที่ต้องใช้ขับเคลื่อนระบบคุณภาพสู่ห่วงโซ่คุณค่าการผลิตทั้งระบบ เพื่อเพิ่มความได้เปรียบด้านคุณภาพและมาตรฐานของข้าวไทย