มาตรฐานเพื่ออาหารแห่งอนาคต (Future Food) เมื่อเนื้อสัตว์จากพืชกลายเป็นเทรนด์ระดับโลก

กระแสการบริโภคอาหารวีแกน (Vegan) มังสวิรัติ (Vegetarian) และ กลุ่มอาหารจากพืชอย่าง Plant-based กลายเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจของผู้บริโภคและกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจด้านอาหารทั่วโลก เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น แรงหนุนจากเทรนด์รักษ์โลกใส่ใจสิ่งแวดล้อม (มลภาวะที่เกิดจากการทำฟาร์มปศุสัตว์ เช่น ปรากฏการณ์เรือนกระจก การเห็นคุณค่าของสิ่งมีชีวิต) และการเกิดพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า  Flexitarian  หรือการกินอาหารมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น จากแนวโน้มการเติบโตของอาหารแห่งอนาคตที่ว่านี้นอกจากจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคแล้ว นับว่ายังเป็นโอกาสครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมอาหารไทยด้วย

แต่สิ่งที่เราต้องนำมาคิดต่อเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ Plant-based Food ซึ่งเป็นอาหารกลุ่มโปรตีนทางเลือกที่ใช้วัตถุดิบจากพืชที่ให้โปรตีนสูง นำมาพัฒนารสชาติให้เหมือนผลิตภัณฑ์จากสัตว์หรือ Plant-based Meat โดยส่วนมากจะมีส่วนผสมหลักคือ soy concentrate ซึ่งหลายคนอาจมีอาการแพ้ รวมไปถึงปัญหาของ⁠ GMO ที่เลี่ยงได้ยากมาก อีกทั้งมีการใช้โซเดียมมาเป็นองค์ประกอบทำให้ Plant-based Meat มีปริมาณโซเดียมสูงกว่าเนื้อปกติ ดังนั้นในผลิตภัณฑ์ทีมีส่วนผสมหลัก soy concentrate ผู้บริโภคควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีฉลาก GMO FREE เพื่อความสบายใจยิ่งขึ้นในการบริโภค⁠

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ควรต้องระวังคือการปนเปื้อนของ DNA จากเนื้อสัตว์ เช่น หมูและเนื้อวัว หรือแม้กระทั่งสารปนเปื้อนหรือการดัดแปลงพันธุกรรม เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อกลุ่มผู้บริโภค ดังนั้นผู้บริโภคหรือผู้ปรุงอาหารควรเลือกซื้อวัตถุดิบจากร้านที่มั่นใจและอาหารต้องมีฉลากระบุ สถานที่ผลิต วันเดือนปี ที่ชัดเจน ผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ มีการรับรองคุณภาพความปลอดภัยจากองค์กรของรัฐ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการได้รับวัตถุเจือปนอาหารในปริมาณมากเกินไป หรือวัตถุเจือปนอาหารที่เป็นอันตราย

ในส่วนของผู้ประกอบการนอกจากข้อมูลด้านการตลาดแล้วอาจจะต้องมีการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวกับ

งานวิจัยและพัฒนา ที่เน้นคุณค่าทางโภชนาการ รสชาติ รสสัมผัส กลิ่น ให้ใกล้เคียงอาหารต้นแบบ เพราะธรรมชาติของคนยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องทางกายภาพ ซึ่งในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ควรเน้นไปที่คุณค่าทางโภชนาการหรือสารอาหาร จำเป็นเพื่อเติมเต็มจุดอ่อนให้กับชาว Plant based หรือ Vegan

การรับรองมาตรฐาน ควรศึกษารายละเอียดเชิงลึกในมาตรฐานของแต่ละหน่วยงาน ที่มีรายละเอียดและความเข้มงวดแตกต่างกัน โดยการพิจารณาร่วมกับฉลากเครื่องหมายรับรอง ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีผลิตภัณฑ์อาหารจำนวนมากในสหภาพยุโรปที่ใช้เครื่องหมาย รับรองของสหภาพมังสวิรัติแห่งยุโรป (European Vegetarian Union: EVU)

การผลิต  ให้พิจารณาที่กระบวนการผลิตและส่วนประกอบ (Ingredient) โดยกระบวนการผลิตอาจต้องแยกไลน์การผลิตออกจากอาหารทั่วไป เนื่องจากมีความอ่อนไหวเรื่องการปนเปื้อน ซึ่งก็จะกระทบกับผู้ประกอบการ วัตถุดิบและส่วนประกอบในการผลิต โดยต้องมีการสอบย้อนกลับไปที่ต้นทางว่าถูกต้องตามข้อกำหนดของวีแกนหรือไม่

ฝ่ายมาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ  มีผู้เชี่ยวชาญและห้องปฏิบัติการตรวจวัดการปนเปื้อนของเนื้อหมูด้วยเทคนิค qPCR  และ dPCR รวมไปถึงการผลิตวัสดุอ้างอิงรับรอง เพื่อใช้ในการตรวจสอบการปนเปื้อนของเนื้อหมูทั้งในกลุ่มของเนื้อสดและกลุ่มอาหารแปรรูป ทั้งในรูปแบบของ DNA solution และ matrix  โดยมีการพัฒนาวิธีและผลิตวัสดุอ้างอิงมาตรฐานที่ใช้ในการจำแนกเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ การตรวจวิเคราะห์ GMOs การตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหารที่ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณให้มีความถูกต้องและแม่นยำสามารถตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ไปสู่มาตรฐานสากลได้ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจวัดการปนเปื้อนในอาหาร ท่านสามารถคลิ๊กเข้าไปที่ https://www.nimt.or.th/rm/ เพื่อทำการค้นหาสารอ้างอิงมาตรฐานได้จากฐานข้อมูลวัสดุอ้างอิง (ประเทศไทย) และ โปรแกรมทดสอบความชำนาญ https://www.nimt.or.th/pt/