มว. วิจัยร่วมจุฬาฯ นำเสนองานวิจัยช่วยเหลือเกษตรกรในงานเทศกาลโคนมแห่งชาติ 2562

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ร่วมนำเสนอผลงานทางวิชาการเรื่อง “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีรังสียูวีในอุตสาหกรรมโคนมไทย” ในงานเทศกาลโคนมแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2562 จัดโดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี

ผู้บริหารและบุคลากร มว. ร.ท.อุทัย นรนิ่ม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ มว. น.ส.จรวยรัตน์ เหย่ากุลบดี รักษาการหัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยาอุณหภูมิและแสง และนายพลวัฒน์ จำปาเรือง นักมาตรวิทยาฝ่ายมาตรวิทยาอุณหภูมิและแสง ได้เข้าร่วมพิธีเปิดงานเทศกาลโคนมแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2562 ในวันที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สืบสาน รักษา ต่อยอด โคนมไทย สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ทั้งนี้ มว. ร่วมนำเสนอผลงานทางวิชาการเรื่อง “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีรังสียูวีในอุตสาหกรรมโคนมไทย” ภายในอาคารนิทรรศการ ณ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย โดยนายพลวัฒน์ จำปาเรือง นักมาตรวิทยาห้องปฏิบัติการแสง (Radiometry Laboratory) กลุ่มงานแสงและสี ฝ่ายมาตรวิทยาอุณหภูมิและแสง ได้นำเสนอผลงานทางวิชาการเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีรังสียูวีในอุตสาหกรรมโคนมไทย โดยนำเทคโนโลยีรังสียูวีดังกล่าวมาทดลองใช้ผ่านงานวิจัยเพื่อยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำนมดิบที่ใช้ชื่อว่าเครื่อง “Pre–Aseptic Sterilization System, PASS” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาและออกแบบโดยนายเดวิด มกรพงศ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทำการตรวจวัดหลอดรังสียูวีพร้อมอุปกรณ์ประกอบระบบ วิเคราะห์ปริมาณของพารามิเตอร์ต่าง ๆ ที่สำคัญของระบบ โดยนายพลวัฒน์ จำปาเรือง นักมาตรวิทยาฝ่ายมาตรวิทยาอุณหภูมิและแสง ซึ่งงานดังกล่าวเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ “การพัฒนาขีดความสามารถอุตสาหกรรมอาหารและน้ำดื่ม” ตามแผนบูรณาการอุตสาหกรรมศักยภาพ เมืองนวัตกรรมอาหาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายน้ำนมโคดิบให้กับสหกรณ์โคนมหรือศูนย์รวบรวมรับซื้อน้ำนมดิบได้เป็นเป็นไปตามมาตรฐาน มกษ. 6003-2553 “กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : น้ำนมโคดิบ” หรือประกาศของ อ.ส.ค. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวกับ “มาตรฐานการรับซื้อน้ำนมโค พ.ศ.2558” ทำให้ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้ ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอดและนำมาทดลองใช้กับฟาร์มโคนมหลายแห่ง โดยผลลัพธ์ที่ได้คือ น้ำนมโคดิบมีจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ที่ลดลงเท่ากับ 3 Log Reduction (99.9%) ทำให้เกษตรกรสามารถขายน้ำนมดิบได้ราคาได้สูงขึ้น และสามารถลดต้นทุนทางด้านพลังงานได้อีกด้วย

การใช้เทคโนโลยีรังสียูวีเป็นหัวใจสำคัญของนวัตกรรมเครื่อง “Pre –Aseptic Sterilization System, PASS” ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องทำการตรวจวัดค่าการรับรังสียูวีซี (UVC Irradiance) และพารามิเตอร์ที่สำคัญต่าง ๆ ของหลอด พร้อมการตรวจวัดค่าการส่องผ่านรังสียูวีซีของท่อควอตซ์ที่ใช้ในนวัตกรรมเครื่อง PASS เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับอัตราการไหลของระบบ จึงจะทำให้สามารถปรับตั้งค่าอัตราการไหลที่นำไปสู่ปริมาณรังสียูวีซีที่ต้องการ (UVC Dose) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพการทำลายเชื้อจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ ได้

รังสียูวีเป็นส่วนหนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าครอบคลุมช่วงความยาวคลื่นตั้งแต่ 100 – 400 นาโนเมตร โดยรังสียูวีสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ด้วยการทำลายพันธะไฮโรเจนของหมู่เบสไทมีนและอะดีนีนของ DNA ทำให้สายโซ่พันธะ DNA ขาด จนทำให้หมู่เบสไทมีนที่อยู่ใกล้กันเกิดพันธะทางเคมีขึ้นใหม่เป็นสาร “Pyrimidine Dimer” จึงเกิดการยับยั้งการขยายพันธุ์เชื้อจุลินทรีย์และตายในที่สุด ซึ่งรังสียูวีที่สามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ จะครอบคลุมช่วงความยาวคลื่นตั้งแต่ 240 – 310 นาโนเมตร ตามมาตรฐาน CIE 155:2003