มว.นำเสนอผลงานวัสดุอ้างอิง TRM ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562 (2-6 กุมภาพันธ์ 2562)

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562 ณ Event Hall 102-104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมทั้งร่วมมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัล 2018 TWAS Prize for young Scientists in Thailand โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน ทั้งนี้เพื่อระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยและเป็นครั้งแรกของโลก และเพื่อนำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพร้อมใช้และความก้าวหน้าด้านการประดิษฐ์คิดค้นของประเทศให้เกิดการขยายผล และนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพื่อความก้าวไกลของประเทศ”  ในโอกาสนี้ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ร่วมนำเสนอผลงานในประเภทบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทยและบัญชีนวัตกรรมไทย โดยนำวัสดุอ้างอิง/วัสดุอ้างอิงรับรอง ที่มีชื่อทางการค้าว่า TRM (Thailand Reference Material) ไปจัดแสดง

TRM ได้รับการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยในปี 2559 จำนวน 48 รายการ   ปัจจุบัน มว. สามารถผลิตวัสดุอ้างอิงรับรองได้รวมทั้งสิ้น 102 รายการ โดยแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้

  1. วัสดุอ้างอิงรับรองสำหรับการตรวจวัดทางเคมีคลินิก: Clinic
  2. วัสดุอ้างอิงรับรองสำหรับการตรวจวัดทางด้านสิ่งแวดล้อม: Environment
  3. วัสดุอ้างอิงรับรองสำหรับการตรวจวัดทางอาหาร: Food
  4. วัสดุอ้างอิงรับรองสำหรับการตรวจวัดทางวัสดุ: Material
  5. วัสดุอ้างอิงรับรองสารมาตรฐาน: Standard

โดย TRM สามารถสอบกลับได้ทางมาตรวิทยา (Traceable) ไปยัง SI Units ซึ่งในทางเคมีคือ หน่วย Mole (mol) โดยผ่านการให้ค่าจากห้องปฏิบัติการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และได้ผ่านการเปรียบเทียบความสามารถในการวัดกับห้องปฏิบัติการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติของประเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และญี่ปุ่น เป็นต้น สำหรับวัสดุอ้างอิง/วัสดุอ้างอิงรับรอง เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งต่อห้องปฏิบัติการวิเคราะห์และทดสอบ  เนื่องจากทำให้ห้องปฏิบัติการของประเทศไทยสามารถวิเคราะห์ทดสอบได้อย่างถูกต้องและมีคุณภาพตามมาตรฐานตามระบบสากล

ปัจจุบันพบว่า ห้องปฏิบัติการทดสอบ/สอบเทียบที่มีอยู่ในไทยจำนวนมากกว่า 200 แห่ง ต้องใช้วัสดุอ้างอิงในกระบวนการทดสอบ เพื่อยืนยันวิธีการวิเคราะห์และทดสอบ หรือแม้กระทั้งใช้ในการตรวจสอบเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจวัดค่า โดยส่วนใหญ่ไทยต้องนำเข้าวัสดุอ้างอิงจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพงและต้องใช้ระยะเวลานานในการสั่งซื้อหรือนำเข้า  ดังนั้นเมื่อเราสามารถผลิตวัสดุอ้างอิงได้เองในประเทศ ย่อมเป็นประโยชน์แก่ประเทศ ในการลดการนำเข้าวัสดุอ้างอิง/วัสดุอ้างอิงรับรองจากต่างประเทศ  อีกทั้ง มว. เป็นหน่วยงานระดับชาติที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นในผลการวัดให้ประเทศต่างๆได้ อีกด้วย