มว. – สฟอ. จับมือบูรณาการ NQI: เตรียมความพร้อม Stakeholder รองรับการเติบโตสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า

ปัจจุบัน… กระแสยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า รถ EV ได้รับความสนใจไปทั่วโลกทั้งจากผู้ผลิต ผู้บริโภคและผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน ประเทศไทยก็เช่นเดียวกันที่ภาครัฐได้ให้ความสำคัญและเร่งกำหนดนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ “ยานยนต์ไฟฟ้า” กลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศไทยอย่างจริงจัง และยังได้มีการต่อยอดเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิต “ยานยนต์ไฟฟ้า” ในอนาคตอีกด้วย

อย่างไรก็ดี การที่ภาครัฐจะผลักดันให้มีการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องผลักดันให้มีการจัดตั้ง “สถานีอัดประจุไฟฟ้ายานยนต์” ที่ได้มาตรฐานไปพร้อมกันด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562 สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ในฐานะหน่วยงานหลักด้านมาตรวิทยา ในโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure; NQI) ได้บูรณาการงานร่วมกับ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า” ขึ้น ณ โรงแรมสุโกศล กรุงเทพ เพื่อถ่ายทอดความรู้และสร้างความเข้าใจในเรื่องข้อกำหนด มาตรฐานของการติดตั้ง และแนวทางการทดสอบ รวมถึงการสอบกลับได้ของเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า แก่ผู้ประกอบการ หน่วยงานกำหนดมาตรฐาน และหน่วยงานให้บริการทดสอบ/สอบเทียบ โดยมี ดร.สิวินีย์ สวัสดิ์อารี หัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานสัมมนาฯ และกล่าวเปิดงานโดย นายณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ซึ่งงานสัมมนาในช่วงเช้า มีการบรรยายเกี่ยวกับมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า รวม 3 เรื่อง คือ
1. “มาตรฐานสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า” บรรยายโดย นายสมเดช แสงสุรศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญวิจัย ฝ่ายสนับสนุนบริการทางวิศกรรมและเทคโนโลยี กลุ่มงานวิศวกรรมซอฟต์แวรฺและทดสอบผลิตภัณฑ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
2. “มาตรฐานการติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า” บรรยายโดย นายวรพจน์ กระทอง วิศวกรไฟฟ้า กองมาตรฐานไฟฟ้า ฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
3. “การจัดทำมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า” บรรยายโดย ผศ.ดร.วรชาติ สุวรรณงาม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL)

นอกจากนั้นในช่วงบ่าย ยังมีการบรรยาย เรื่อง “การทดสอบสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า” โดย คุณอาทิตย์ วัสนมงคล ผู้จัดการแผนกปฏิบัติการ 1 และคุณทศพร อุดมสินศิริกุล ผู้จัดการแผนกปฏิบัติการ 3 สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) และการบรรยาย “การพัฒนาขีดความสามารถทางการวัดเพื่อรองรับสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า” โดย ดร.ธัญญา คชวัฒน์ นักมาตรวิทยา ฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.)

จากนั้น ปิดท้ายด้วยการเสวนาสรุป โดยผู้บรรยายทุกท่านร่วมกันแสดงความคิดเห็นถึงความพร้อมของประเทศไทยในการก้าวไปสู่ยุคของยานยนต์ไฟฟ้า และประเด็นอะไรที่ต้องทำเพิ่มเติมและบูรณาการงานร่วมกัน เพื่อรองรับการเติบโตของสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมี ดร.สิวินีย์ สวัสดิ์อารี เป็นผู้ดำเนินการเสวนา