สัมมนาวิชาการ “GNSS positioning infrastructure” (22-23 สิงหาคม 2562)

ปัจจุบัน เทคโนโลยีระบบ GNSS และสถานีรับสัญญาณดาวเทียมต่อเนื่อง (GNSS CORS NETWORK) ได้ถูกปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นทั้งด้านความพร้อมการใช้งาน ความถูกต้องสูงในการระบุตำแหน่งด้วยการใช้ข้อมูลของระบบดาวเทียมนำทางหลายๆ ระบบทั่วโลก (Multi GNSS) อาทิ GPS (US), GLONASS (Russia), Galileo (EU), BeiDou (China), QZSS (Japan), IRNSS และ NavIC (India)    ส่งผลให้การนำเทคโนโลยีระบบ GNSS ไปประยุกต์ใช้งาน สามารถทำได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากการนำไปใช้ในงานป้องกันและบรรเทาสารธารณภัย  การบริการบอกตำแหน่ง  งานสำรวจ  งานทำแผนที่  งานวางผังเมืองแล้ว  ยังสามารถประยุกต์ใช้กับงานออกแบบทางด้านวิศวกรรม  การควบคุมเครื่องจักรและการสำรวจ  งานเกษตรความแม่นยำสูง ระบบขนส่งอัจฉริยะ  รวมถึงการบริหารจัดการนครอัจฉริยะ หรือ Smart City ได้อีกด้วย

เพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีระบบ GNSS ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบโครงข่าย GNSS CORS และการประยุกต์ใช้ข้อมูลเพื่อบริหารจัดการ อันจะนำไปสู่การยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่โลกแห่งการปฏิวัติธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาล

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ในฐานะหน่วยงานหลักด้านมาตรวิทยา ในโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure; NQI) ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการเทคโนโลยีระบบ GNSS และโครงข่าย GNSS CORS จึงได้จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง “GNSS positioning infrastructure” ขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพฯ เพื่อถ่ายทอดความรู้ สร้างความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีระบบ GNSS แก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยมี ดร.สิวินีย์ สวัสดิ์อารี หัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานสัมมนาฯ และได้รับเกียรติจากพลโท หัสฎี วงศ์อิศเรศ เจ้ากรมแผนที่ทหาร เป็นประธานกล่าวเปิดงาน

ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้ มว. ได้เชิญ Associate Professor Dr. Suelynn Choy, School of Science (Geospatial) and Director of SPACE Research Centre of Royal Melbourne Institute of Technology (RMIT) University ประเทศออสเตรเลีย มาเป็นวิทยากรหลักในการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีระบบ GNSS ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาในทั้งสองวัน

นอกจากนั้น มว. ยังได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.เฉลิมชนม์ สถิระพจน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถ่ายทอดความรู้ในเรื่อง “Thailand GNSS CORS infrastructure” และ ดร.ทยาทิพย์ ทองตัน นักมาตรวิทยา ฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ยังได้ถ่ายทอดความรู้ในเรื่อง “NIMT GNSS timing station” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานสัมมนา ได้รับทราบถึงภารกิจของ มว. ที่เกี่ยวข้องกับระบบ GNSS อีกด้วย