มว.-สมอ. เดินหน้าพัฒนาผู้ประเมินตรวจประเมินทางเทคนิค โดยการจัดสัมมนา “ร่างข้อแนะนำการประเมินค่าความไม่แน่นอนของการวัด”

ปัจจุบัน เอกสารมาตรฐานที่ใช้เป็นแนวทางในการประเมินค่าความไม่แน่นอนของการวัด (Uncertainty of Measurement) มีให้เลือกใช้อยู่หลายฉบับ อาทิ M303 (The Expression of Uncertainty and Confidence in Measurement) และ EA 4/02 (Evaluation of the Uncertainty of Measurement in Calibration) ซึ่งข้อกำหนด ISO/IEC 17025 มิได้ระบุว่าห้องปฏิบัติการสอบเทียบจะต้องใช้เอกสารมาตรฐานใดเป็นแนวทางในการประเมินค่าความไม่แน่นอนของการวัด ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในการประเมินค่าความไม่แน่นอนของการวัด และเกิดการปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) และ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จึงได้ร่วมกันจัดทำร่างเอกสารข้อแนะนำ “การประเมินค่าความไม่แน่นอนของการวัด” ตามเอกสาร JCGM 100: 2008 (Guidelines to the expression of uncertainty in measurement) ฉบับภาษาไทย ขึ้น เพื่อให้ผู้ตรวจประเมินทางวิชาการ และผู้เกี่ยวข้องในกิจกรรมการรับรองระบบงานตามข้อกำหนด ISO/IEC 17025 ในประเทศไทย สามารถเลือกใช้เป็นแนวทางประกอบการตรวจประเมินห้องปฏิบัติการสอบเทียบได้ต่อไป

วันที่ 9 กันยายน 2562 ดร.สิวินีย์ สวัสดิ์อารี หัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า (มว.) ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดทำคู่มือการประเมินค่าความไม่แน่นอน ฉบับภาษาไทย ตามเอกสาร JCGM 100: 2008. กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนา และกล่าวเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการภายใต้หัวข้อ “ข้อแนะนำการประเมินค่าความไม่แน่นอนของการวัด” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้ แนวคิดและวิธีการประมวลผล รวมถึงการประยุกต์ใช้ค่าความไม่แน่นอน ให้แก่ผู้ประเมิน และอนุกรรมการรับรองห้องปฏิบัติการสอบเทียบ และผู้เกี่ยวข้อง ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพฯ ดำเนินรายการโดย ดร.นฤดม นวลขาว (มว.)  ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานภายใต้ “แผนงานบูรณาการวิจัยและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพเพื่อระบบนิเวศนวัตกรรมที่เข้มแข็ง” กิจกรรมบูรณาการการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยแผนงานดังกล่าวมุ่งสร้างและพัฒนาผู้ประเมินทางเทคนิคให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และมีความสามารถทางเทคนิคที่เหมาะสมกับระดับเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคตของประเทศ อันจะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ระบบมาตรวิทยาของประเทศ มุ่งสู่การเป็น NQI Hub ในระดับอาเซียนและรองรับไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป

การสัมมนาในช่วงเช้า เริ่มด้วยการ “ชี้แจงวัตถุประสงค์และขอบข่าย ร่างข้อแนะนำการประเมินค่าความไม่แน่นอนของการวัด ฉบับภาษาไทย” โดย ร.ต. ชลิต คุ้มทวี หัวหน้ากลุ่มงานไฟฟ้ากระแสตรงและความถี่ต่ำ ความถี่สูง และแม่เหล็กไฟฟ้า (มว.) ในฐานะหัวหน้าคณะกรรมการจัดทำคู่มือการประเมินค่าความไม่แน่นอน ฉบับภาษาไทยฯ ต่อด้วยการนำเสนอโครงร่าง ข้อแนะนำการประเมินค่าความไม่แน่นอนของการวัด ฉบับภาษาไทย โดย ดร.มณฑล หอมกลิ่นเทียน นักมาตรวิทยา ฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า (มว.) และเพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ได้เข้าใจถึงวิธีและตัวอย่างการประเมินค่าความไม่แน่นอนของการวัด มว. ได้รับเกียรติจาก
• ดร.พจมาน ท่าจีน ผู้อำนวยการสำนักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) นำเสนอวิธีการประเมินค่าความไม่แน่นอนของการวัด
• ดร.มณฑล หอมกลิ่นเทียน (มว.) นำเสนอตัวอย่างการประเมินค่าความไม่แน่นอนของการวัด สาขาไฟฟ้า
• ดร.วันชัย ชินชูศักดิ์ หัวหน้ากลุ่มสอบเทียบเครื่องมือวัด 2 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) นำเสนอตัวอย่างการประเมินค่าความไม่แน่นอนของการวัด สาขามิติ
• ร.อ.พิชัย มะคาทอง ผู้ทรงคุณวุฒิ นำเสนอหลักการการพิจารณาเลขนัยสำคัญและการปัดเศษของจำนวน

จากนั้นในช่วงบ่าย เป็นการแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ต่อร่าง “ข้อแนะนำการประเมินค่าความไม่แน่นอนของการวัด ฉบับภาษาไทย” โดยคณะกรรมการจัดทำคู่มือการประเมินค่าความไม่แน่นอน ฉบับภาษาไทยฯ จะรวบรวมข้อคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงให้เกิดความเหมาะสมก่อนการทำประชาพิจารณ์ และนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการพิจารณารับรองห้องปฏิบัติการสอบเทียบ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำหรับให้ความเห็นชอบและประกาศใช้เป็นเอกสารข้อแนะนำในลำดับถัดไป