WORLD METROLOGY DAY, Ep. 1

มาตรวิทยา (Metrology) เป็นสาขาหนึ่งทางวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องราวของการวัดเพื่อพัฒนาให้เกิดความละเอียดและแม่นยำสูงสุด การพัฒนาด้านมาตรวิทยาทำให้เทคโนโลยี เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา  และในระดับอุตสาหกรรมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีผลิตภาพ ( Productive)  เนื่องจากการวัดที่เที่ยงตรงและแม่นยำจะช่วยยกระดับมาตรฐานตั้งแต่ระดับโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึง End User  อีกทั้งยังอยู่เบื้องหลังการค้นพบสำคัญๆทางวิทยาศาสตร์อีกมากมาย

 

20 พฤษภาคม เป็นวันมาตรวิทยาโลก (WORLD METROLOGY DAY)

หลายท่านอาจไม่ทราบมาก่อนว่า 20 พฤษภาคม เป็นวันมาตรวิทยาโลก (WORLD METROLOGY DAY) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองที่นานาประเทศมีการลงนามในข้อตกลงใช้หน่วยเมตร (Treaty of the Metre) ที่กรุงปารีส ณ วันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1875 และนั่นคือที่มาของสนธิสัญญาเมตริก ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับแรกในด้านวิทยาศาสตร์การวัด เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระดับนานาชาติอย่างเป็นทางการในด้านมาตรวิทยา

ดังนั้นวันที่ 20 พฤษภาคม ของทุกปีจึงเป็นวันครบรอบการลงนามในสนธิสัญญาเมตริก และเป็นวันมาตรวิทยาโลก โดยสนธิสัญญานี้เป็นพื้นฐานสำหรับระบบการวัดที่สอดคล้องกันทั่วโลก ทั้งทางวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม อุตสาหกรรมการผลิตและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งการจัดงานในแต่ละปี สำนักงานชั่ง ตวง วัด ระหว่างประเทศ (BIPM) และองค์การมาตรวิทยาทางกฎหมายระหว่างประเทศ (OIML) ตลอดจนองค์กรระดับชาติที่รับผิดชอบด้านมาตรวิทยา ได้ร่วมกำหนดหัวข้อที่ใช้ในการจัดงาน ซึ่งโจทย์ที่นำมาใช้เป็นหัวข้อนั้นจะเป็นกรอบการทำงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนา เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ หรือแนวโน้มของกระแสเทคโนโลยีโลกที่เปลี่ยนไปในทุกๆย่างก้าว เพื่อช่วยสร้างการค้นพบใหม่ๆ ทางการวิจัย วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม ตลอดจนพัฒนามาตรฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนบนโลก

 

Metrology in the Digital Era

สำหรับปีนี้ หัวข้อวันมาตรวิทยาโลก คือ Metrology in the Digital Era หรือ มาตรวิทยาในยุคดิจิทัล เนื่องจากกระแสของเทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังปฏิวัติโลกทั้งใบ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติทั่วโลกได้พัฒนางานวิจัยและตรวจสอบเทคนิคการวัดใหม่ ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนขึ้น ตลอดจนการเข้าร่วมการเปรียบเทียบการวัดที่ประสานงานโดย Bureau International des Poids et Mesures (BIPM) เพื่อให้แน่ใจว่าผลการวัดทั่วโลกมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบและมีศักยภาพ น่าเชื่อถือ ซึ่งที่ผ่านมา มว. ในฐานะ สถาบันมาตรวิทยาแห่งประเทศไทย ได้มีการพัฒนางานวิจัยเพื่อสนับสนุนมาตรฐานปฐมภูมิตามนิยามใหม่ SI ที่อ้างอิงกลับไปยังค่าคงที่ของธรรมชาติ ซึ่งนิยามตามค่าคงที่ของธรรมชาติคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถทางการวัดให้สูงขึ้น สามารถพิสูจน์ และทดสอบเทคโนโลยีในยุค Digital Transformation ได้อย่างละเอียดและมีความซับซ้อนมากขึ้น

ท่านที่สนใจสามารถติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ใน Ep. ต่อไปในวันศุกร์หน้านะคะ…..แล้วพบกันใหม่ค่ะ