มาตรวิทยา ร่วมพัฒนา EECi จัดประชุมใหญ่ APMF เสริมแกร่งระบบคุณภาพสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ปลายปีนี้

เมื่อเร็วๆนี้  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ได้ลงนามความร่วมมือสนับสนุนการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi : Eastern Economic Corridor of Innovation) ร่วมกับภาคเอกชน สถาบันการศึกษา  สถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง  เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC: Eastern Economic Corridor) ที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Super Cluster) และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศที่อาจมีการไต่อันดับไปสู่พื้นที่เศรษฐกิจชั้นนำของเอเชียในอนาคต ซึ่งในไม่ช้าพื้นที่ EECi นี้ จะถูกเนรมิตให้มีห้องปฏิบัติการวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน ห้องทดลองภาคสนาม โรงงานต้นแบบและโรงงานสาธิต รวมถึงเป็นเขตผ่อนปรนกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถทดสอบนวัตกรรมใหม่ได้ (Sandboxes for Regulatory Adjustment ) ทำให้สินค้าและนวัตกรรมมีคุณภาพและได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งการสร้างระบบคุณภาพที่แข็งแกร่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันให้กระบวนการผลิตมีคุณภาพและได้มาตรฐาน สร้างมูลค่าให้แก่สินค้าและนวัตกรรม ซึ่งในเรื่องของการพัฒนาระบบคุณภาพนั้นสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ได้มีการวางแผนพัฒนาระบบการวัดของชาติและการถ่ายทอดค่าทางการวัด ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละปีอย่างต่อเนื่อง โดยกิจกรรมหลักนั้นประกอบด้วย การจัดฝึกอบรมให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่หมุนเวียนเข้ามารับการฝึกอบรมที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี (http://training.nimt.or.th/)  การจัดชมรมมาตรวิทยา (Metrology Club) โดยแบ่งกลุ่มตามมาตรวิทยาสาขาต่างๆเพื่อให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมปรึกษาหารือไขข้อสงสัยในเทคนิค และกลไกต่างๆทางการวัด ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ข้อมูลใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน  และการจัดกิจกรรมการประชุมวิชาการ  กิจกรรมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ   เป็นต้น

โดยในช่วงระหว่างวันที่ 19-23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560  นี้ จะมีการจัดอีก 1 กิจกรรมใหญ่ นั่นคือ การจัดประชุมสัมมนาของมาตรวิทยาเชิงกล Asia-Pacific Symposium on Measurement of Force and Mass ( APMF) 2017 (http://apmf2017.nimt.or.th/)  ที่จะมีขึ้น ณ จ.กระบี่ เพื่อเป็นการหาแนวทางใหม่ๆในการพัฒนาระบบมาตรวิทยาเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่ปรับตัวตามกระแสความต้องการของผู้ใช้งาน รวมทั้งเป็นการพัฒนาศักยภาพทางการวัดและบริหารจัดการบุคลากรด้านมาตรวิทยาให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพสร้างสมรรถนะให้แก่ระบบคุณภาพ และสามารถนำไปใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย  การพัฒนาระบบขนส่งแห่งอนาคต และการพัฒนาเมือง เพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขัน ผลักดันเศรษฐกิจให้รุดหน้า และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โดยงานนี้ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรวิทยาจากทั้งในและต่างประเทศมาร่วมบรรยายอย่างคับคั่ง และเป็นการรวมตัวกันของเหล่านักมาตรวิทยาที่จะมาร่วมหารือเกี่ยวกับ นิยามใหม่กิโลกรัม  แนวคิดใหม่ในเรื่องของมาตรวิทยามวล เทคโนโลยีการชั่งน้ำหนัก  และ เวิร์คช็อปการวัด ในประเด็นของมวล แรง แรงบิด  ความหนาแน่น ความแข็ง ความดัน สุญญากาศ และ แรงโน้มถ่วง การสอบย้อนกลับได้  และการถ่ายทอดค่า ตลอดจนกระบวนการต่างๆที่จำเป็นสำหรับการวัดที่แม่นยำเพื่อเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศที่จะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเอเชีย