ผนึกกำลัง 5 หน่วยงานหนุนสร้างโอกาสทางการแข่งขันในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการรับรองระบบงาน (7 มิถุนายน 2562)

7 มิย.62: ผนึกกำลัง 5 หน่วยงาน พัฒนาการรับรองระบบงาน ในวันรับรองระบบงานโลก ประจำปี 2562 ณ อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  กระทรวงอุตสาหกรรม, กรมวิทยาศาสตร์บริการ และ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของการตรวจสอบและรับรอง การรับรองระบบงาน และมาตรวิทยา ส่งเสริมผู้ประกอบการสร้างมูลค่าและโอกาสการแข่งขันในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ด้วยการรับรองระบบงาน เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดระดับโลก ซึ่งปัจจุบันห่วงโซ่อุปทาน มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม เพราะห่วงโซ่อุปทาน คือ กิจกรรมที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ จนกระทั่งสินค้าส่งถึงมือลูกค้า โดยมุ่งที่จะลดต้นทุนรวมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการอันนำมาซึ่งความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่า ทั้งนี้ภารกิจสำคัญของห่วงโซ่อุปทานจะมุ่งให้ลูกค้าเกิดความพอใจสูงสุด โดยเน้นในเรื่องประสิทธิผลเชิงต้นทุน และผลตอบแทนทางธุรกิจ มาตรฐานและการตรวจสอบการรับรองระบบงาน และมาตรวิทยา (การวัด การวิเคราะห์ การทดสอบ) จึงเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สามารถนำไปใช้สนับสนุนและสร้างโอกาสการแข่งขันในห่วงโซ่อุปทานได้อีกทั้งเป็นการเผยแพร่ความรู้ให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของการรับรองระบบงานที่ช่วยสนับสนุนและยกระดับระบบมาตรฐานในห่วงโซ่อุปทานให้ทำงานสอดคล้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การผลิตสินค้าและบริการในภาคอุตสาหกรรมของประเทศเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การเสวนา เรื่อง “สร้างโอกาสการแข่งขันใน Supply Chain ด้วยการรับรองระบบงาน” และการบรรยายพิเศษโดยหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง

กิจกรรมด้านการรับรองระบบงานและมาตรวิทยา นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของระบบการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ช่วยอำนวยประโยชน์ให้เกิดคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นในสินค้า บริการ และการบริหารจัดการของภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่สมดุล ในเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ในฐานะผู้พัฒนาระบบมาตรวิทยาของประเทศไทยได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เรื่อง “ความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ” โดยนางอัจฉรา  เจริญสุข ผู้อำนวยการ มว. และนาย วันชัย พนมชัย เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) พร้อมคณะผู้แทนจากทั้ง 2 ฝ่ายร่วมพิธีลงนาม

จากนั้นในช่วงบ่าย นางอัจฉรา ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “บทบาทและความสำคัญของระบบหน่วยเอสไอในการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมสู่ยุคดิจิทัล” สืบเนื่องจากในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 เป็นวันประวัติศาสตร์สำคัญของวงการมาตรวิทยาโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงนิยามของหน่วยวัดใหม่และเป็นครั้งยิ่งใหญ่ที่ส่งผลต่อการพัฒนามาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งการประชุมใหญ่ของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการชั่งตวงวัด ระหว่างประเทศ (The General Conference on Weights and Measures, CGPM) ครั้งที่ 26 ณ เมืองแวร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส ได้พิจารณาและลงมติวาระยอมรับ “การเปลี่ยนนิยามหน่วยกิโลกรัม แอมแปร์ เคลวิน และโมล”และยังมีการวิจัยเกี่ยวกับวิธีการวัดใหม่รวมถึงผู้ที่ใช้ปรากฏการณ์ควอนตัมสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกในอนาคต ซึ่งการค้นพบทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศเช่นนี้ ทำให้คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมดียิ่งขี้น จึงนับเป็นก้าวที่สำคัญของการวิวัฒนาการไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและการผลิตนวัตกรรมศักยภาพอันส่งผลต่อการสร้างความสามารถทางการแข่งขันต่อไปในอนาคต