อำนาจหน้าที่/วิสัยทัศน์/พันธกิจ/ยุทธศาสตร์

อำนาจหน้าที่ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ตาม พระราชบัญญัติ พัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๙

มาตรา ๑๔ สถาบันมีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการต่างๆ ภายในวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๑๓ และอำนาจเช่นว่านี้ ให้รวมถึง
(๑) บริหารกองทุนตามกฎหมาย และระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
(๒) ศึกษา สำรวจ และวิเคราะห์ทางวิชาการต่างๆ เพื่อใช้เป็นพี้นฐานในการวางเป้าหมายนโยบาย และจัดทำแผนงานโครงการและมาตรการต่างๆ ในการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติของประเทศ แล้วเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา
(๓) ออกใบรับรองผลการวัดปริมาณที่ได้จากการวัด วิเคราะห์ ทดสอบ หรือสอบเทียบให้กับเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวัสดุอ้างอิง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สถาบันกำหนด
(๔) ศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีการวัดปริมาณ และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านมาตรวิทยาของภาครัฐ ผู้ประกอบภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ส่งเสริมความร่วมมือในกิจกรรมด้านนี้ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
(๕) มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่มีมาตรฐานและความสามารถด้านมาตรวิทยาเป็นตัวแทนในกิจกรรมด้านมาตรวิทยาในระดับระหว่างประเทศเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน
(๖) สนับสนุนการมีส่วนร่วมของห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ ทดสอบ และสอบเทียบ ในกิจกรรมด้านมาตรวิทยาและระบบการถ่ายทอดความถูกต้อง การให้บริการข้อมูลและการให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยี การวัดปริมาณ และการให้บริการอื่นๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรวิทยา
(๗) ดำเนินการและสนับสนุนการเพิ่มสมรรถนะในการศึกษา พัฒนาเทคโนโลยี การวัดประมาณ ระบบการถ่ายทอดความถูกต้องของเครื่องมือและอุปกรณ์การวัดปริมาณ หรือความสามารถสอบกลับได้ ตลอดจนการจัดโครงการลงทุนและโครงการที่เกี่ยวข้อกับการรับเทคโนโลยีด้านมาตรวิทยาจากต่างประเทศ เพื่อให้ระบบมาตรวิทยาของประเทศมีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้และเป็นที่ยอมรับในระบบหน่วยวัดระหว่างประเทศ
(๘) ดำเนินการและส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรวิทยาของประเทศ รวมทั้งการพัฒนากำลังคนทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
(๙) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ และปฏิบัติงานอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่สถาบัน และงานตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
(๑๐) จัดให้ได้มา ถือกรรมสิทธิ์ เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม แลกเปลี่ยน โอน รับโอน และขายหรือจำหน่ายด้วยวิธีใดๆ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งหลักทรัพย์ต่างๆ ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้มอบหรืออุทิศให้
(๑๑) เรียกค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์จากการศึกษา พัฒนาเทคโนโลยี การวัดปริมาณ หรือความสามารถสอบกลับได้ การอนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญา การจำหน่ายผลิตผลที่ได้จากการดำเนินงานและค่าบริการในการให้บริการ รวมทั้งทำความตกลงและกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าตอบแทนและค่าบริการนั้น ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
(๑๒) ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวกับการศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีการวัดปริมาณ และความสามารถสอบกลับได้
(๑๓) จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีการวัดปริมาณ หรือความสามารถสอบกลับได้ และการประดิษฐ์หรือพัฒนาเครื่องมือหรืออุปกรณ์การวัดปริมาณ หรือความรู้เทคโนโลยีที่ใช้เป็นมาตรฐานในกิจการด้านมาตรวิทยา
(๑๔) เข้าร่วมกิจการหรือร่วมลงทุนกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาระบบมาตรวิทยาของประเทศ
(๑๕) กู้ยืมเงิน ให้กู้ยืมเงิน โดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สิน ทั้งนี้ เพื่อการศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีการวัดปริมาณ และการบริหารวะเคราะห์ ทดสอบ หรือสอบเทียบความถูกต้องของเครื่องมือและอุปกรณ์การวัดปริมาณ
(๑๖) กระทำการอื่นใดอันจำเป็นในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
การยืมเงิน การให้กู้ยืมเงิน หรือลงทุนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด หากเกินวงเงินที่กำหนดในระเบียบ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีก่อน

 วิสัยทัศน์

เป็นเลิศทางการวัด สร้างนวัตกรรม เพื่อเทคโนโลยีอนาคตและยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

พันธกิจ

เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และเป็นไปตามพระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. 2559 จึงมีการกําหนดพันธกิจของแผนปฏิบัติราชการ 5 ปีของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติ การด้านการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ ระยะที่ 4 ดังนี้
• จัดหาและเก็บรักษามาตรฐานการวัดแห่งชาติ วัสดุอ้างอิง และมาตรฐานของประเทศให้เพียงพอ ต่อความต้องการใช้งานในประเทศ และพร้อมรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่และเทคโนโลยีในอนาคต รวมถึงการถ่ายทอดความถูกต้องของการวัดปริมาณไปสู่ผู้ใช้งานภายในประเทศ
• สนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ ทดสอบ และสอบเทียบ ให้น่าเชื่อถือและมีคุณภาพ ตลอดจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
• พัฒนาการให้บริการระบบมาตรวิทยาให้ทันต้อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อรองรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในอนาคต
• บูรณาการระบบมาตรวิทยาร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพอย่างเป็นระบบและสามารถนําไปใช้งานได้จริง
• ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรผ่านการบูรณาการระบบมาตรวิทยาแห่งชาติร่วมกับเศรษฐกิจ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
• ส่งเสริมการประกอบวิชาชีพด้านมาตรวิทยาและพัฒนาบรรยากาศทางวิชาการและองค์ความรู้อย่างยั่งยืน อันจะส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถของระบบมาตรวิทยาให้เทียบเท่ากับระดับสากล

ยุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับความสามารถทางการวัด เพื่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีอนาคต
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยกระดับความสามารถทางการวัดเพื่อคุณภาพชีวิตและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรวิทยาที่เข้มแข็ง
ยุทธศาสตร์ที่ 4 บูรณาการโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 เปลี่ยนผ่านมาตรวิทยาสู่ยุคดิจิทัล
ยุทธศาสตร์ที่ 6 พัฒนาสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติสู่ความเป็นเลิศ