มาตรวิทยาแสงแท็คทีมผู้เชี่ยวชาญ ถกประเด็นยุทธศาสตร์ชาติพัฒนาแผนพลังงานทดแทน เน้น NQI แกร่งสร้างแรงขับเคลื่อนที่ดี ตอบโจทย์แผนชาติ ชัวร์

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดย ฝ่ายมาตรวิทยาแสง สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.)จัดงานสัมมนา หัวข้อ มาตรวิทยาต่อการพัฒนาพลังงานทดแทน (เน้นพลังงานแสงอาทิตย์) โดยมี ร.ท. อุทัย นรนิ่ม รักษาการหัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยาแสงกล่าวเปิดงานสัมมนา ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 ณ ห้องแกรนด์บอลลรูม โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานครฯ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ และรวบรวมข้อมูลความต้องการด้านพลังงานแสงอาทิตย์ในทุกภาคส่วน ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญและประโยชน์ของระบบมาตรวิทยาต่อการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องตามแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติในเรื่องของการสนับสนุนพลังงานทดแทนของรัฐบาล โดยการสัมมนาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การสัมมนาให้ความรู้เรื่อง มาตรวิทยาต่อการพัฒนาพลังงานทดแทน และ ส่วนที่เป็นการอภิปรายไขข้อสงสัยเกี่ยวกับนโยบายและการสนับสนุนของภาครัฐ ต่อการประกอบธุรกิจพลังงานทดแทนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ในช่วงท้าย

โดยภาคเช้ามีการบรรยายหัวข้อ “ บทบาทของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติต่อการพัฒนาด้านพลังงานทดแทน” โดย นางสาวโรจนา ลี้เจริญ รักษาการหัวหน้าห้องปฏิบัติการสีและการกระจายคลื่นแสง ฝ่ายมาตรวิทยาแสง มว. , “ศักยภาพและการใช้ประโยชน์ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนในปัจจุบัน” โดย รศ. ดร. เสริม จันทร์ฉาย หัวหน้าห้องปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องวัดรังสีอาทิตย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ,  “การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และการทดสอบประสิทธิภาพแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ” โดย ดร. ธีรยุทธ์ เจนวิทยา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนามาตรฐานและทดสอบระบบเซลล์แสงอาทิตย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ภาคบ่ายในหัวข้อ “รูปแบบทางธุรกิจและช่องทางการจัดหาเงินทุนสำหรับระบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในประเทศไทย”โดย นาย ธนัย โพธิสัตย์ ที่ปรึกษาโครงการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ), “ระบบการผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์”โดย รศ. ดร. ธนรัฐ ศรีวีระกุล กรรมการบริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน สถาบันวิจัยและบริการด้านพลังงาน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

จากนั้นเป็นการบรรยายพิเศษ หัวข้อ  “นโยบายและการสนับสนุนของภาครัฐ ต่อการประกอบธุรกิจพลังงานทดแทนด้านพลังงานแสงอาทิตย์” โดย นายสุรีย์ จรูญศักดิ์ วิศวกรชำนาญการพิเศษ (ผู้อำนวยการกลุ่มออกแบบ มาตรฐานและทดสอบ) สำนักพัฒนนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และ นายเลิศชาย แก้ววิเชียร ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

และช่วงสุดท้ายของการประชุมเป็นการอภิปราย เพื่อไขข้อสงสัยในเรื่องต่างๆ เช่น นโยบายการจัดการและสนับสนุนเพื่อใช้ส่งเสริมพลังงานทดแทนพลังงานแสงอาทิตย์ควรเป็นไปในทิศทางใด, การรับซื้อพลังงานทดแทน, ความเป็นไปได้ของโครงการนำร่อง “Solar เสรี” เป็นต้น โดยเหล่าวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิได้มีการเชื่อมโยงถึงโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI) ว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีในการผลักดันยุทธศาสตร์ด้านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในเรื่องของพลังงานทดแทน โดย บทบาทด้านมาตรวิทยา (M: Metrology) ของ มว. จะเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญเพื่อนำประเทศไทยไปสู่สังคมแห่งวัฒนธรรมคุณภาพ