มว.ระดมผู้เชี่ยวชาญ ติวเข้ม กิจกรรมเสริมแกร่งอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สร้างศักยภาพสู่ภาคการผลิต

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว) ขับเคลื่อนระบบคุณภาพจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำส่งต่อทุกความแม่นยำ สนับสนุนเมืองนวัตกรรมอาหาร จัดสัมมนา “มาตรวิทยาต่อการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม” ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ “การพัฒนาขีดความสามารถอุตสาหกรรมอาหารและน้ำดื่ม” ในวันพฤหัสบดีที่ 29มิถุนายน พ.ศ. 2560 ณ ห้องบอลรูมกมลทิพย์ 3 โรงแรมเดอะสุโกศล โดยมีนางอัจฉรา เจริญสุข ผู้อำนวยการ มว. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน  ซึ่งงานนี้ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 125 คน กว่า 80% เป็นผู้ประกอบการธุรกิจทางด้านอาหาร เครื่องดื่ม และสมุนไพร อีกทั้งเป็นการรวมตัวของเหล่าผู้ทรงคุณวุฒิ ทางด้านมาตรวิทยา และนักวิชาการทางด้านอาหาร อาทิ  ผศ. ดร. สุรพงษ์ พินิจกลาง จากภาควิชาการจัดการธุรกิจอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่มาให้ความรู้ในเรื่องของ “การเพิ่มศักยภาพนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่มในอนาคต”  ดร. กิติพงศ์ อัศตรกุล สาขาจุลชีววิทยาทางอาหาร เรื่อง การฆ่าเชิ้อในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม  ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นางสาวโรจนา ลี้เจริญ นักมาตรวิทยาชำนาญการ กลุ่มงานแสงและสี ฝ่ายมาตรวิทยาอุณหภูมิและแสง เรื่อง  การสร้างความเชื่อมั่นและคุณภาพผลิตภัณฑ์ – การวัดรังสียูวีในกระบวนการฆ่าเชื้อ นายพิเชษ วงษ์นุช นักมาตรวิทยาชำนาญการ กลุ่มงานมาตรฐานปฐมภูมิ ฝ่ายมาตรวิทยาอุณหภูมิและแสง เรื่อง  การสร้างความเชื่อมั่นและคุณภาพผลิตภัณฑ์ – การจัดการและการทวนสอบเทอร์โมมิเตอร์ในอุตสาหกรรมอาหาร และนางสาว ธสร สิงหะเนติ นักมาตรวิทยาชำนาญการ ฝ่ายมาตรวิทยาอุณหภูมิและแสง  เรื่อง “การสนับสนุนนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่มด้วยระบบมาตรวิทยา”

ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยมีความพร้อมในเรื่องของลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่สามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรทีป้อนให้แก่ภาคอุตสาหกรรมอันส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่หลากหลาย แต่ทั้งนี้การที่ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอาหารของโลกได้นั้น จะต้องมีการส่งต่อองค์ความรู้ในเรื่องของระบบคุณภาพให้แก่ภาคการผลิต และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI : National Quality Infrastructure) ให้แข็งแกร่ง เพื่อเป็นการพัฒนาให้ภาคอุตสาหกรรมเกิดผลิตภาพ (Productivity) ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลคือปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยขึ้นแท่นสู่การเป็น Food Hub ของโลกตามนโยบาย เมืองนวัตกรรมอาหาร Food Innopolis

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) โดย ห้องปฏิบัติการกระจายคลื่นแสง ฝ่ายมาตรวิทยาอุณหภูมิและแสง เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของมาตรวิทยาทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม  ในการพัฒนาเครือข่ายด้านอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม จึงได้จัดตั้งโครงการ “การพัฒนาขีดความสามารถอุตสาหกรรมอาหารและน้ำดื่ม โดยมีการจัดสัมมนา ในหัวข้อ “มาตรวิทยาต่อการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม”    ทั้งนี้เพื่อเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงองค์ความรู้ทางด้านคุณภาพจากต้นน้ำ(ระบบคุณภาพ) สู่ปลายน้ำ (ภาคการผลิต) และเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่ผลักดันให้ นโยบาย เมืองนวัตกรรมอาหาร บรรลุเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์

ในปัจจุบันมีการนำประโยชน์จากแสงยูวีซีมาใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอาหาร น้ำดื่ม และเครื่องดื่ม เพื่อใช้ในกระบวนการที่เรียกว่า “Surface Sterilization และ Water Disinfection” ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการทำลายเชื้อโรคเช่น แบคทีเรีย ไวรัส เห็ด รา ยีสต์ เชื้อลีสเตอเรีย และเชื้ออีโคไลที่ปนเปื้อนมากับอาหารและเครื่องดื่ม มว. จึงมีโครงการที่จะพัฒนาขีดความสามารถในการวัดแสงยูวีซีตามมาตรฐานสากล เพื่อสนับสนุนการฆ่าเชื้อในอุตสาหกรรมอาหารและน้ำดื่มโดยแสงยูวี เพื่อเป็นพื้นฐานในการสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ โดยการสร้างคลัสเตอร์ เครือข่ายและห่วงโซ่อุปทาน ตามโครงการเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ ในด้านอุตสาหกรรมอาหาร (Food Innopolis) เพื่อส่งเสริมให้เกิดความการใช้ความรู้ด้านมาตรวิทยา ในกระบวนการทวนสอบอย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นการพัฒนานวัตกรรมการวัดด้วยเทคนิคการวัด ที่สามารถสอบย้อนกลับได้ไปยังระบบหน่วยเอสไอได้ ขยายขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการให้รองรับความต้องการในอุตสาหกรรม และภาคส่วนอื่น ๆ และสร้างให้มีการสอบกลับได้ทางมาตรวิทยาของUVC Meter ที่มีใช้งานในประเทศไทย ตลอดจน เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ด้วยเทคโนโลยีด้านมาตรวิทยา